“ทัศนีย์” ประธาน สคสท. ระบุเหตุ สปสช.ไม่ขัดข้อเสนอรวม สสจ./สสอ.เป็นหน่วยบริการเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันโรค เหตุเป็นไปได้ยาก เกี่ยวข้องโครงสร้างและกฎหมายหลายฉบับ ชี้หากต้องการงบทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต้องแก้ให้ถูกจุด ขณะที่ รพ.สต. ถูกมองเป็นหน่วยบริการ แต่ต้องรับงบผ่าน CUP เกิดการกระจายงบสู่หน่วยบริการระดับล่างไม่เป็นธรรม
นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานคณะทำงานก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นหน่วยบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ในมุมมองเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ยากและมีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ และเมื่อดูโครงสร้าง สสจ. และ สสอ.นอกจากอยู่ภายใต้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองแล้ว ยังอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) อีกทั้งการจะให้ สสจ.และ สสอ. เป็นหน่วยบริการยังต้องถามกลับว่ามันใช่หรือไม่ด้วย
ทั้งนี้หากจะให้ สสจ.และ สสอ.ทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ควรที่จะมีการออกกฎหมายเพื่อรองรับนำไปสู่การปฏิรูปงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยออกแบบให้พื้นที่เป็นฐานและชุมชนเป็นศูนย์กลางเพื่อร่วมกันจัดการบริหารด้านสุขภาพและสาธารณสุข เพราะปัญหาสุขภาพวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องมองถึงสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ
“หากจะให้ สสจ. และ สสอ.ทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน จะต้องมีการแยกนิยามให้ชัดเจน โดยแยกคำว่า “หน่วยบริการ” และ “หน่วยให้บริการ” โดย สสจ.และ สสอ.เป็นหน่วยให้บริการ ซึ่งการจะลุกขึ้นมาและบอกว่าเป็นอะไรนั้นจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ เพราะต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง” นางทัศนีย์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังต้องดูว่าเรื่องไหน สสจ.ให้บริการได้ ซึ่งที่ผ่านมา สสจ.ก็มีการทำหน่วยทันตกรรม แต่เป็นศูนย์บริการซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการ
นางทัศนีย์ กล่าวว่า กรณีข้อเสนอนี้เข้าใจว่า สสจ.และ สสอ.ต้องการเม็ดเงินเพื่อไปบริหารงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ และวิธีจัดการที่พยายามเกลี่ยงบเหมาจ่ายรายหัวต้องดูว่าเป็นการแก้ไขปัญหาถูกจุดหรือไม่ ขณะเดียวกันงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคส่วนหนึ่งมีการกระจายไปตามกรมต่างๆ และมีการดำเนินเป็นโครงการและไม่ได้มีการประเมินผลลัพธ์สุขภาพว่าหลังดำเนินโครงการประชาชนดีขึ้นอย่างไร ดังนั้นจึงต้องดูภาพรวมของปัญหาเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด
“การที่ สปสช.ตอบว่าไม่ขัดข้อเสนอนี้ เป็นเพราะ สปสช.รู้ดีว่าข้อกฎหมายคืออะไร ทำได้หรือไม่ และการที่จะออกมาปฏิเสธคงทำไม่ได้ แต่หากจะทำต้องแก้ไขกฎหมายทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนนิยามคำว่าหน่วยบริการจะครอบคลุมอะไรบ้างและหมายถึงใคร อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถูกมองว่าเป็นหน่วยบริการ แต่ก็ไม่ถูกรวมอยู่ในหน่วยบริการของ สปสช.ทำให้ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรง แต่ส่งไปที่ CUP แทน ทำให้เกิดการกระจายงบไปยังหน่วยบริการระดับล่างที่ไม่เป็นธรรม ยกเว้นโรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญต่องาน รพ.สต.และการมีส่วนร่วม ดังนั้นหากแก้ไขกฎหมายต้องมองในส่วนนี้ด้วย” นางทัศนีย์ กล่าว
- 40 views