อภ.เผยปี 58 มียอดจำหน่าย 12,772 ล้านบาท เพิ่มจากปี 57 กว่า 1.2 พันล้าน ปี 59 ตั้งเป้ายอดขายทุกผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 13,500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าสร้างโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิตอีก 50 % ในปี 2563 เน้นยาจำเป็นของประเทศ รองรับการเข้าถึงยาของประชาชน วางแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ในเฟส 2 ผลิตยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ และยาเม็ด แผนการก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 พลเอกศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้วย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าวผลการดำเนินงาน ปี 2558 และทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 และในอนาคตขององค์การเภสัชกรรม
พลเอกศุภกร กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า ในปี 2558 อภ.มียอดจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 12,772 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2557 ถึงจำนวนเงิน 1,295 ล้านบาท เป็นยาที่ อภ.ผลิต 6,552 ล้านบาท และยาผู้ผลิตอื่น 6,220 ล้านบาท ปัจจุบัน อภ.จะมีการสำรองยาและเวชภัณฑ์อยู่ในระบบเฉลี่ยรายการละ 3 - 4 เดือน โดยมุ่งเน้นยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ยาเชิงนโยบาย เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์, ยารักษาโรคหัวใจหลอดเลือด, น้ำเกลือ และน้ำยาล้างไตสำหรับผู้ป่วยไตวาย, วัคซีนป้องกันโรค ยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์
ส่วนยาและเวชภัณฑ์ที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายน้อยราย แต่ยังมีความจำเป็นในระบบยาของประเทศ อาทิ ยาต้านพิษ ยากำพร้า ยาขาดแคลน อภ.ได้มีการสำรองไว้ในระบบกว่า 23 รายการ ส่วนใหญ่เป็นยาจำเป็นพื้นฐาน ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ที่ อภ.ดำเนินการและสามารถทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาได้ เป็นจำนวนเงินถึง 5,343 ล้านบาท คิดเป็น 64.23 % ของงบประมาณที่ต้องจ่าย โดยแบ่งเป็นประหยัดจากยาที่ อภ.ผลิตเอง 3,692 ล้านบาท และจากการจัดหาจากผู้ผลิตรายอื่น 1,651 ล้านบาท ประหยัดได้เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 1,965 ล้านบาท (ปี 2557ประหยัดได้จำนวนเงิน 3,378 ล้านบาท)
ประธานกรรมการ อภ.กล่าวต่อว่า เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา อภ.ได้ดำเนินการผลิตยาที่โรงงานแห่งใหม่ที่รังสิตแล้ว โรงงานแห่งใหม่นี้ดำเนินการผลิตยาเม็ดและยาแคปซูล 32 รายการ มีกำลังการผลิตสูงถึง 2,500 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 50 % ของโรงงานเดิมที่ ถ.พระรามที่ 6 โดยผลิตยาในกลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขไทย เช่น ยาเบาหวาน ยาความดัน ยาต้านไวรัสเอดส์ และได้เริ่มผลิตยาปฏิชีวนะ Azithromycin Capsule 250 mg ยารักษาอาการปลายประสาทอักเสบ Gabapentin Capsule 300 mg ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz Tablet 600 mg ยารักษากรดไหลย้อน Omeprazole Capsule 20 mg ยาลดความดันโลหิต Amlodipine Tablet 10 mg เป็นต้น ซึ่งจะทยอยเปิดสายการผลิตยาให้ครบทุกรายการในเร็วๆ นี้
ส่วนการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ตามมาตรฐาน WHO GMP ที่ จ.สระบุรี นั้น ขณะนี้บริษัทผู้รับจ้างได้เข้าดำเนินการก่อสร้างต่อแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง
ประธานกรรมการ ยังกล่าวต่ออีกว่าในอนาคตไม่เกินปี 2563 นี้ อภ.มีแผนงานการปรับปรุงก่อสร้างโรงงานใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในทุกสายการผลิต ทั้งยา เวชภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์ต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า 50 % และแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา และเวชภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แผนงานที่สำคัญ อาทิ แผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ในเฟส 2 เพื่อผลิตยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ และยาเม็ด แผนการก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่ เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ ชุดทดสอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ วัตถุดิบทางยา แผนการก่อสร้างและพัฒนาระบบคลังและกระจายสินค้าให้มีความทันสมัยได้มาตรฐานยิ่งขึ้น กระจายได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง แผนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบริหารจัดการระบบใหม่ หรือ ERP (Enterprise resource planning) มาใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการผลิตยาตามมาตรฐาน GMP PIC/S ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- 31 views