อภ.เผยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ช่วยรัฐประหยัดค่ายา/เวชภัณฑ์/ ได้ไม่ต่ำกว่า 17,085 ล้านบาท ปี 58 ตั้งเป้ายอดจำหน่ายทุกผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า12,400 ล้านบาท มุ่งผลิตและกระจายเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น ยามูลค่าการใช้สูง พร้อมเดินหน้าเปิดโรงงานผลิตยารังสิตได้ภายในเมษายนนี้ ขยายกำลังการผลิตกว่า 50% และพัฒนาโรงงานผลิตยาพระราม 6 ให้ได้มาตรฐาน GMP PIC/S เพื่อการเข้าถึงยาคุณภาพ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับระบบยาของประเทศ
พลโทศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2557 ว่า องค์การเภสัชกรรมมีการผลิตยาและเวชภัณฑ์ กว่า 300 รายการ มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 11,477ล้านบาท ซึ่งเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเอง จำนวน5,832 ล้านบาท แบ่งเป็น ยาต้านไวรัสเอดส์ จำนวน 2,382ล้านบาท ยารักษาโรคทั่วไป จำนวน 3,045 ล้านบาท และยาอื่นๆ อาทิ วัคซีนป้องกันโรค ชุดทดสอบ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จำนวน 405 ล้านบาท ส่งรายได้เข้ารัฐ จำนวน 518 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 35 ของกำไร และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552 – 2557 รวม 6 ปี องค์การเภสัช-กรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยบริการต่างๆ โดยองค์การฯ ได้ผลิต จัดหา และจัดส่งยา อาทิ ยาจำเป็นที่มีปัญหาการเข้าถึงยาได้ยาก , ยาต้านไวรัสเอดส์ , Stentสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ,อุปกรณ์ข้อเข่าเทียม,น้ำยาล้างไต ,สายTK ซึ่งเป็นสายสวนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้อง , ยาEPO ซึ่งเป็นยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้กระจายให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่ยากไร้ และผู้ป่วยตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประหยัดได้ไม่ต่ำกว่า 20,463 ล้านบาท โดยปีล่าสุดปี 2557 สามารถประหยัดได้ถึง มากกว่า 3,378 ล้านบาท ยาองค์การเภสัชกรรม 2,150 ล้านบาท ยาผู้ผลิตอื่น 1,228 ล้านบาท
ประธานบอร์ดอภ. กล่าวต่อว่า อภ.ได้กระจายยาที่มีคุณภาพทั้งปริมาณที่เพียงพอ และราคาที่เหมาะสมไปยังหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขอย่างทั่วถึง โดยมีการจัดหายาจำเป็น ยาที่มีราคาแพง มูลค่าการใช้สูง เช่น ยามะเร็ง, ยาเอดส์, ยาหัวใจ, น้ำเกลือสำหรับผู้ป่วยไตวาย, ยากำพร้าซึ่งเป็นยาที่มีผู้จำหน่ายจำนวนน้อย เนื่องจากไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ, เซรุ่ม ,วัคซีน ในราคาที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และงบประมาณได้อย่างชัดเจน ตลอดจนผลิตยาที่มีความจำเป็น เช่น ยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมได้มีการเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตยามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP-PIC/S ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งGMP-PIC/S ยังเป็นมาตรฐานการผลิตยาของทุกประเทศในกลุ่ม AEC อีกด้วย พร้อมทั้งได้นำเทคโนโลยีวิทยาการต่างๆ เข้ามาเสริมในกระบวนการคุณภาพในหลายๆ ด้าน ล่าสุดองค์การฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP-PIC/Sจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในหมวดยาปราศจากเชื้อ หมวดชีววัตถุ และในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาขับเหล็กในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย และผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ประเภทชุดตรวจสอบสารเสพติด และจากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าองค์การเภสัชกรรม ด้านคุณภาพสินค้า ความสม่ำเสมอของยาและเวชภัณฑ์ พบว่ามีความพอใจในทุกปัจจัยในระดับค่อนข้างมาก อยู่ที่ 4.06%
ประธานบอร์ดอภ. กล่าวว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกตามมาตรฐาน WHO-GMPที่ จ.สระบุรี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพิ่ม จำนวน 59 ล้านบาท และให้องค์การฯ ดำเนินการก่อสร้างต่อในส่วนที่ขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดการก่อสร้างนั้น ขณะนี้ได้หารือกับผู้รับจ้างเพื่อเดินหน้าทำการก่อสร้างต่อ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ท่านผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมดำเนินการต่อแล้วเป็นการเร่งด่วน เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในการทดลองทางคลินิก ทั้งนี้หากผลการทดสอบผ่าน และได้รับการอนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประเทศไทยก็จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ไว้ใช้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ โดยผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในภาวะปกติ ได้เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโด๊ส และสูงสุดถึง 10 ล้านโด๊ส และหากเกิดการระบาดใหญ่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 60 ล้านโด๊ส ซึ่งสามารถรองรับประชากรได้ทั้งประเทศ
องค์การเภสัชกรรมจะมีการขยายกำลังการผลิตจากโรงงานพระราม 6 ไปผลิตเพิ่มที่โรงงานผลิตยารังสิต คาดว่าเดือนเมษายนนี้จะเปิดการผลิตได้บางส่วน และเปิดการผลิตและกระจายสู่หน่วยบริการได้เต็มรูปแบบในเดือนกันยายน 2558 นี้ โดยมีกำลังการผลิตกว่า 3,000 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มการผลิตจากโรงงานพระราม 6 ประมาณ 50% ผลิตยาเม็ดและแคปซูล ในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ และยาจำเป็นอื่นๆ ที่มีปริมาณการใช้สูง กว่า 30 รายการ
ในด้านการวิจัยพัฒนายาใหม่ๆ นั้น องค์การฯมุ่งเน้นยาที่กำลังจะหมดสิทธิบัตร ยาในกลุ่มบัญชียาหลักแห่งชาติอาทิ ยากลุ่มยาต้านไวรัส กลุ่มยารักษาโรค ทางต่อมไร้ท่อ(Endocrine) กลุ่มยารักษาระบบหัวใจ หลอดเลือด และกลุ่มยารักษาระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งวิจัยและพัฒนาชีววัตถุ การสังเคราะห์วัตถุดิบทางยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อความมั่นคงทางยาไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดจะมียาใช้ตลอด รวมถึงส่งเสริมประชาชนให้มีการเข้าถึงยา และใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งมีการเสาะแสวงหาพันธมิตรในการร่วมผลิต จัดหา และเป็นแหล่งผลิตสำรองในกรณีฉุกเฉิน เช่น โรงงานเภสัชกรรมทหาร ตลอดจนแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศรัสเซีย และประเทศทางแถบยุโรปตะวันตก
นอกจากนี้ในส่วนของการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม ได้แก่ บริษัท องค์การเภสัชกรรม เมอริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านการผลิต และจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรค ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายวัคซีนอยู่ 5 รายการ และล่าสุดสามารถพัฒนาและเป็นผู้ผลิตต้นกำเนิด (Country of Origin)ด้วยนวัตกรรมใหม่ในการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE Vaccine ) ชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ที่ฉีดเพียงครั้งเดียวก็สามารถออกฤทธิ์ป้องกันโรคได้มากกว่า95% และได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก ขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศในภูมิภาคแถบนี้ และมีการจำหน่ายไปใช้แล้วรวม 8ประเทศ อันได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง บรูไน กัมพูชา และพม่า
บริษัทเยเนอรัลฮอสปิตัลโปรดักส์ จำกัด (GHP) บริษัทร่วมทุนผลิตน้ำเกลือ และน้ำยาล้างไต มากกว่า 40รายการ มีกำลังการผลิต 1 ใน 3 ของปริมาณความต้องการใช้น้ำเกลือของประเทศ ได้ทำการเปิดสายการผลิตครบทุกสายได้ตามปกติแล้ว หลังจากประสบมหาอุทกภัยเมื่อปี2554และกำลังจะเพิ่มทุนสำหรับขยายกำลังการผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบน้ำเกลือของประเทศ
บริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด(THP) เป็นโรงงานผลิตสมุนไพรรายแรกที่รับรองหลักเกณฑ์มาตรฐานวิธีการผลิตที่ดี (GMP) และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบยาแผนปัจจุบันจนทำให้เกิดการผลักดันการใช้ยาจากสมุนไพรในหน่วยบริการเป็นไปอย่างกว้างขว้าง ขณะนี้กำลังพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองมาตรฐานGMP PIC/Sและ ISO17025เพื่อการขยายตลาดสู่ต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ AECปัจจุบันผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของยาและ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มากว่า 107 รายการ และจะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ประธานบอร์ดอภ. กล่าวย้ำว่าการดำเนินงานในทุกๆ ด้าน ขององค์การเภสัชกรรมและบริษัทร่วมทุน มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สร้างความมั่นคง และยั่งยืนให้กับระบบยาของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสาธารณสุข เรื่องความมั่น คงเข้มแข็ง และยั่งยืน ของระบบยา เวชภัณฑ์ วัคซีนป้องกันโรค และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่สำคัญเพื่อสุขภาพชีวิตที่ยืนยาวและดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขของประชาชน
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมว่า ตนเข้ามาทำงานที่องค์การเภสัชกรรมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจต่างๆ ขององค์การฯ โดยนำหลัก Q S R P มาใช้ในการทำงาน Q คือ Quality เรื่องของคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาองค์การฯได้มีการปรับปรุงมาโดยตลอดถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว ที่สำคัญต้องรักษามาตรฐานให้ดีอยู่ตลอด และต้องพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น Sคือ Service ต้องมีใจบริการ เพราะการบริการลูกค้าด้วยความเต็มใจ และบริการอย่างดี และเต็มที่จะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้ R คือ Responsibility ต้องทำหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด และตอบสนองเร็วที่สุด ไม่รอให้เกิดปัญหา และสุดท้าย P คือ People บุคลากร คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร หากบุคลากรมีคุณภาพ ฉลาด มีความสามารถ มีจริยธรรม มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และเอาใจใส่กับทุกสิ่งที่ทำ ก็จะสามารถทำให้งานและองค์กรเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ในเรื่องของนโยบายขององค์การฯและนโยบายสาธารณสุขนั้น จะเร่งดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก ให้เดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว รวมถึงจะมีการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ด้านทันตกรรม และผลิตภัณฑ์หรือน้ำยาที่ใช้ในห้องปฏิบัติการด้วย ซึ่งตรงนี้หากองค์การฯสามารถดำเนินการได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศชาติต่อไปด้วย
- 39 views