มติบอร์ด สปสช.รับทราบผลประเมินการทำงานร่วมระหว่าง สธ.และ สปสช.ตามตัวชี้วัดปี 58 ได้ร้อยละ 91.5 พร้อมเห็นชอบออกประกาศและขอบเขตการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งสอดคล้องกับที่ สธ.กำหนดและเป็นไปตามคำแนะนำของ สตง.หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สปสช.ใช้ตามระเบียบของ สธ.
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ ได้สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ วาระ 2554-2558 ซึ่งจะครบกำหนดวาระ 4 ปี ในวันที่ 22 พ.ย.58 นี้ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเงินการคลัง การบริหารกองทุน ความครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพของประชาชน การคุ้มครองสิทธิประชาชนและผู้ให้บริการ การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ที่สำคัญ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายตับในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การขยายเกณฑ์เริ่มรับยาต้านไวรัสเอชไอวี เพิ่มรายการยาในบัญชียา จ.2 เพิ่มความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขยายสิทธิคลอดไม่จำกัดจำนวนครั้ง เป็นต้น และยังเน้นการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ การบริหารจัดการสำนักงาน การดำเนินการด้านกฎหมาย
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นมติบอร์ดฯ เห็นชอบประกาศประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเดิมนั้น บอร์ดฯ เมื่อปี 2545 กำหนดให้ใช้รายการสร้างเสริมสุขภาพป้องกัน (P&P) ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรอบในการให้สิทธิประโยชน์ และระหว่างนั้น สปสช.และ สธ.ร่วมกันจัดทำรายการ P&P เพิ่มเติมตามกลุ่มวัยต่างๆ ต่อมา สตง.มีข้อเสนอแนะให้บอร์ด สปสช.ออกประกาศ P&P ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่ง สปสช.ได้ร่วมกับ สธ.และหน่วยงานอื่นดำเนินการยกร่างภายใต้กลไกของคณะอนุกรรมการ P&P และคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ โดยยึดตามกรอบการให้บริการ P&P ตามกลุ่มวัยของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของประกาศ P&P ฉบับนี้ที่สำคัญคือ กำหนดขอบเขตบริการ P&P ครอบคลุมการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพและศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพ การเสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้การปรึกษาแนะนำ การให้ความรู้และการสาธิตเพิ่มสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเฝ้าระวังโรค และบริการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือการชะลอความรุนแรงของการป่วย โดยให้ถือว่าบริการดังกล่าวเป็นกิจกรรมด้านการรักษาพยาบาล
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งนี้ได้เห็นชอบผลการดำเนินการตามตัวชี้วัด 18 ข้อ จากการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และ สปสช.ในปี 58 ด้วย ซึ่งจากการประเมินของคณะอนุกรรมการประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ 18.3 จากคะแนนเต็ม 20 คิดเป็นร้อยละ 91.5 และมีข้อเสนอการกำหนดตัวชี้วัดในปี 59 ให้พิจารณาจากนโยบายของ รมว.สธ. ยุทธศาสตร์ สธ. ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ 7x7 เพื่อกลั่นกรอง และสำหรับกระบวนการออกประกาศประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นั้น จะเป็นการทำให้สิทธิปะระโยชน์ด้าน P&P ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความชัดเจนครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัยตามเป้าหมายของ สธ.ได้มากยิ่งขึ้น
- 4 views