การรักษาด้วยยาคือวิธีการสำคัญของการแพทย์มานับตั้งแต่อดีต ส่วนใหญ่แล้วยาที่มีการใช้กันภายในประเทศผลิตจากองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2509 โดยรวมกิจการของโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นองค์การเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรมพ.ศ.2509 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายแพทย์จิตต์ เหมะจุฑา เป็นผู้อำนวยการคนแรก องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทในการผลิตยาอุตสาหกรรมของรัฐ มีหน้าที่ผลิตยาและยาจากสมุนไพร ตลอดจนสนับสนุนการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ

ตำรายาจารึกวัดราชโอรส

พระโอสถพระนารายณ์,ตำรายาไทยโบราณ

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวของ “ยา” นั้นนับว่ามีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะนับตั้งแต่การค้นพบตำราพระโอสถพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา กล่าวได้ว่ามีความเคลื่อนไหวสำคัญๆอยู่สองประการ ประการแรกคือเรื่องของยาหลวงและตำรายาแผนไทย  ส่วนประการที่สองคือเรื่องของยาจากตะวันตก กล่าวคือ

เรื่องของยาหลวงและตำรายาแผนไทยนั้น เริ่มต้นจากตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งรวบรวมตำรายาต่างๆที่หมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปีพ.ศ. 2202 ในบรรดาตำรายาดังกล่าว รวมถึงตำราขี้ผึ้งรักษาบาดแผลของหมอฝรั่งประกอบถวายด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำเอาขี้ผึ้งรักษาแผลเข้ามาใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2054 แล้ว ตำราพระโอสถพระนารายณ์ไม่ได้รวบรวมพระโอสถในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น แต่ยังรวบรวมตำรายาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเข้าไว้ด้วย โดยรวมตำรายาไว้ 81 ตำรับ และมีรายนามหมอที่รักษาแสดงไว้ 9 ท่าน เป็นหมอไทย 5 ท่าน คือออกขุนทิพจักร ออกขุนประสิทธิโอสถ ออกพระสิทธิสาร ออกพระแพทยาพงษา และนายเพ็ชรปัญญา หมอแขก 1 ท่านคือออกพระประสิทธิสารพราหมณ์ หมอจีน 1 ท่านคือขุนประสิทธิโอสถจีน และหมอฝรั่งอีก 2 ท่าน คือ พระแพทย์โอสถฝรั่งและเมสีหมอฝรั่ง ตำราพระโอสถพระนารายณ์ นับว่ามีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนกลาง ทำให้ทราบถึงแนวคิดและวิธีวิทยาของการแพทย์แผนไทยแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องร่างกายว่าประกอบด้วยธาตุสี่ เรื่องที่มาของโรคว่ามาจากการใช้ยาเพื่อปรับธาตุ เรื่องสมมุติฐานของโรคที่เกิดจากสมุฏฐาน 4 ประการขาดสมดุล

ในสมัยอยุธยาช่วงพ.ศ. 2301 เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดยาหรือย่านขายเครื่องสมุนไพรเรียกว่า “ย่านป่าหญ้า” มีร้านขายเครื่องเทศเครื่องไทยครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อ “ตลาดป่ายา” ส่วนโรงพระโอสถหรือโรงเก็บยาหลวงในสมัยนั้น มีตั้งอยู่สองแห่ง คือ ที่นอกประตูไพชยนต์ และที่หน้าสวนองุ่น ตามคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

นอกจากตำราพระโอสถพระนารายณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ การรวบรวมตำรายาได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ.2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯให้ตั้งตำรายาและฤาษีดัดตนไว้เป็นทานภายในศาลารายวัดโพธารามในช่วงที่มีการปฎิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดโพธิ์ ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการบูรณปฏิสังขรณ์ มีหลักฐานระบุถึงการปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นว่า “ผนังใหญ่ศาลาหลังเหนือเขียนแผนไข้ทรพิษ คอสองทางเฉลียงเขียนแผนนวด และจารึกยาปรอทแก้ววรรณโรค ผนังใหญ่ศาลาหลังใต้เขียนแผนแม่ซื้อประจำกุมาร คอสองเขียนคนแปลกเพสละบองราหู(คือเด็กเป็นซางอันสำแดงอาการต่างๆ) และจารึกตำรายากับจารึกเรื่องประจำภาพต่างๆติดไว้ตามผนังแลเสาทั่วไป เฉลียงหลังศาลารายทุกหลังก่อเป็นแท่นหินแปลกๆกันตั้งรูปฤาษีดัดตนท่าต่างๆกัน จารึกโคลงสุภาพบอกท่าดัด และบอกชนิดลมติดไว้ข้างผนัง และมีโคลงบอกด้านนามผู้สร้างศาลา พร้อมทั้งช่างวาดเขียนทั้งฝ่ายวัดฝ่ายบ้านติดไว้ด้วย ปัจจุบันฤาษีดัดตนย้ายไปตั้งไว้ตามเขามอหน้าศาลารายทางทิศใต้พระอุโบสถ

ห้องจัดแสดงตำรายาไทย พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร 

ต่อมาในปีพ.ศ.2355 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้มีการรวบรวมตำราการแพทย์ขึ้น มีการออกไปเสาะหาตำรายาลักษณะโรคทั้งปวง ให้ขุนนาง ราษฎร ตลอดจนพระราชาคณะทุกอารามรวบรวมส่งมา

การจารึกตำรายาและฤาษีดัดตนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสมัยต่อมา ได้แก่ ปีพ.ศ.2364 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง(วัดราชโอรส)ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยได้ทรงจารึกตำรายาไทยไว้ 108ขนาน บนศิลา ทั้งบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์และที่ศาลาราย ปีพ.ศ.2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยให้มีการจารึกวิชาการต่างๆ เช่น ตำรายา ตำราหมอนวด ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โบราณคดี วรรณคดี ประเพณี ศาสนา ฯลฯ ลงบนแผ่นศิลา ประดับไว้ในวัด ตำราที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย คือ ตำรายา การนวด การวิเคราะห์รักษาโรคต่างๆ มีปรากฏในแผ่นศิลา 317 แผ่น เป็นตำรายาประมาณ 1,100 ขนาน และยังมีการหล่อรูปฤาษีดัดตนทำจากดีบุกจำนวน 80 ตน พร้อมทั้งโคลงบรรยายท่าประกอบ โดยโปรดเกล้าฯให้พระยาบำเรอราชแพทย์ เป็นหัวหน้าผู้สืบเสาะตำรายา และตำราลักษณะโรคจากหมอหลวง หมอพระ และหมอเชลยศักดิ์ ในเวลาต่อมา ปีพ.ศ.2505 ทางโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ได้นำตำรายาที่จารึไว้ในพระอารามตำราหมอนวด และรูปฤาษีดัดตน ตลอดจนโคลงบรรยายภาพฤาษีดัดตนมารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเพื่อสะดวกในการค้นคว้า ชื่อว่า “ตำราเวชศึกษาและตำรายาวัดโพธิ์

ต่อมามีการจัดทำตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงขึ้น ในปีพ.ศ.2413 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย และคณะหมอหลวง ชำระตรวจทานคัมภีร์แพทย์ต่างๆรวบรวมและจัดทำขึ้น เรียกว่าตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ซึ่งนับเป็นครั้งหนึ่งของตำราแพทย์ที่ปรากฏในสมัยนั้น นับเป็นตำราการแพทย์แผนไทยฉบับมาตรฐานฉบับแรกสุด เนื้อหาทั้งหมดครอบคลุมเรื่องโรค การรักษา ยาที่ใช้ แนวคิดเรื่องการเจ็บป่วยของไทย

นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์

บ้านพักริมคลองบางกอกใหญ่

สำหรับเรื่องของยาจากตะวันตก มีบันทึกข้อมูลว่าในช่วงพ.ศ.2247 พวกบาทหลวงฝรั่งเศสได้นำเรือออกแจกยาให้ชาวบ้านที่อยู่รอบๆกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่รอดพ้นจากการเกณฑ์แรงงาน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เจ็บป่วยและขาดแคลนยารักษาโรค และส่วนมากมักเป็นยาสำหรับรักษาบาดแผล ต่อมา ในปีพ.ศ.2378 นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ได้เปิดร้านยาขึ้น โดยคนไข้ส่วนมากเป็นชาวจีนและพวกเชลย หลังพ.ศ.2380 หมอบรัดเลย์ได้เปลี่ยนเป็นการออกรักษาตามบ้าน และรับรักษาที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ กระทั่งพ.ศ.2390 หมอเฮาส์ได้เปิดร้านยาที่แพหลังเล็กๆหน้าคณะมิชชันนารี ในระยะเวลา 4 ปีครึ่งสามารถรับรักษาคนไข้ได้ประมาณ 7,302 คน

ในปีพ.ศ.2403 ตำราสรรพคุณยาฝรั่ง นับเป็นตำราทางโอสถสารวิทยาหรือเภสัชวัตถุเล่มแรกของไทยที่มีการบันทึกรายการ “ยาฝรั่ง” 42 ชนิด พร้อมทั้งสรรพคุณบางชนิด ตำราดังกล่าวทำให้เราพอจะทราบชื่อ “ยาฝรั่ง” หลายอย่างที่ใช้ในสมัยนั้นเช่น น้ำการบูร กรดฟอสฟอริค เกลือทองแดง สารหนู อาร์นิก้า แคนทาริส แกมโมมาย ชิงโคนา โคโลซิน ฝิ่น กาแฟ เป็นต้น ต่อมามีเรื่องเล่ากันว่า พ.ศ.2403 มีการนำยาควินินมาใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ใช้ผสมเป็นยาเม็ดแก้ไข้ การใช้ยาในลักษณะนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่นเดียวกับในปีพ.ศ.2416ที่พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ได้ปรุงยารักษาโรคอย่างฝรั่งขึ้น 2 ขนาน คือ ยาวิสัมพญาใหญ่ สกัดเป็นยาน้ำทำเป็นยาหยดในน้ำ และการบูรทำเป็นยาหยด เรียกว่าน้ำการบูร

นับตั้งแต่พ.ศ. 2445 ทั้งยาไทย ยาฝรั่ง ได้กระจายออกไปตามหัวเมืองต่างๆมากขึ้น หลังจากมีการเปิดโอสถศาลารัฐบาล เป็นสถานที่จำหน่ายยาของรัฐแต่ประสบปัญหาการจัดจำหน่ายยาตามหัวเมือง ต่อมาจึงได้จัดตั้ง “โอสถสภา” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โอสถสภาทำหน้าที่สั่งซื้อยามาจากต่างประเทศ โดยเน้นที่จำเป็นก่อน 3 ชนิดได้แก่ ยาควินิน(แก้ไข้) ยาโคลโรดิน(แก้อหิวาตกโรค)และหนองฝีสำหรับป้องกันไข้ทรพิษ การจำหน่ายเปลี่ยนมาเป็นฝากขายตามสถานีตำรวจหรือไปรษณีย์ หรือร้านที่รับไปขายตามตลาด โดยจัดยาเป็นห่อเล็กๆเพื่อป้องกันอันตรายหากใช้ผิด และจำหน่ายในราคาถูก อันเป็นวิธีการที่อังกฤษใช้ในอินเดีย โดยประกาศตั้งโอสถสภาขึ้นในปีพ.ศ.2451และต่อมาในปีพ.ศ. 2449 จึงเริ่มมีการปรุงยาขึ้น โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพและคณะแพทย์ชาวต่างประเทศ มีความเห็นให้ลดยาที่มีจำหน่ายจาก 16 ขนาน เหลือ 8 ขนาน ได้แก่ ยาแก้ไข้ ยาแก้แน่นเสียด ยาแก้บิด ยาแก้ไส้เลื่อนสำหรับเด็ก ยาบำรุงโลหิตสำหรับสตรี ยาแก้อหิวาตกโรค ยาถ่าย และยาคุดทราดเข้าข้อสำหรับบุรุษ และมีการปรับปรุงสรรพคุณยาให้สามารถรักษาโรคที่คล้ายคลึงกันด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการซื้อยาของโอสถสภามากขึ้น แต่ราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมักเสียดายเงินเมื่อมาซื้อยา อีกทั้งในเวลานั้นมีการกำหนดให้เทศาภิบาลผู้ดูแลมณฑลรับผิดชอบการจำหน่ายยาให้แพร่หลาย จึงเกิดการเรี่ยไรเงินจากข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน เพื่อนำไปซื้อยาแจกให้ราษฎรได้ใช้ยากันทั่วถึง

ต่อมาในปีพ.ศ. 2482 จึงได้มีการตั้งโรงงานเภสัชกรรมผลิตยาของรัฐแห่งแรก ถือเป็นจุดเริ่มต้นเภสัชอุตสาหกรรมในประเทศ และย้ายจากสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงเศรษฐการ ไปสังกัดกองเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ.2485 ก่อนจะมีการตั้งองค์การเภสัชกรรมในปีพ.ศ.2509

เก็บความจาก

วิชัย โชควิวัฒน, โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), รอยเวลา: เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, 2556

ขอบคุณรูปภาพจาก

ยาไทย, แหล่งที่มา: https://herbalmedicinebuu.wordpress.com/

ตำรายาจารึกวัดราชโอรส และพระโอสถพระนารายณ์, แหล่งที่มา:

http://auctiong.uamulet.com/AuctionGoodsDetail.aspx?qid=526750

http://sanamluang2008.blogspot.com/2013/06/siamese-free-man.html

http://writer.dek-d.com/nui1418/story/viewlongc.php?id=365241

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร