เผยสถิติคนไทย 100 คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถมารักษาทันเวลาแค่ 4 คน มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Stroke Fast Track ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต’ เรียกรถ รพ.1669 ไปรับตามพิกัด GPS รวดเร็ว แม่นยำ ตรงสถานที่ ไม่เสียเวลาหา ช่วยผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วที่สุด มีโปรแกรมหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถเรียกรถพยาบาล 1669 ได้ทันทีโดยไม่ต้องพูด พร้อมคลิปวิดีโอแชร์เพื่อช่วยชีวิตช่วยลดผู้ป่วย อัมพาต
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการแถลงข่าวนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบสื่อมวลชนประจำเดือน ตุลาคม 2558 เรื่อง “แอปสโตรคฟาส์ต์แทรค (App Stroke Fast Track) ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต” โดย รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โรคอัมพาตในอดีตนั้นไม่มีวิธีการรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ในปัจจุบันมีวิธีรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ข้อจำกัดของการรักษาให้หายเป็นปกติได้ คนไข้จะต้องมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 270 นาที หรือว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง และที่ผ่านมามีคนไทยที่รู้จักโรคอัมพาตและวิธีการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้น้อยมาก ทำให้คนไทยที่เป็นโรคอัมพาตนี้ 100 คน สามารถมาทันและได้รับการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้เพียง 4 คน ดังนั้นกลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีแนวคิดผลิตเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักโรคอัมพาต และวิธีรักษามากขึ้น
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ “แชร์เพื่อช่วยชีวิต : Share To Save Life” (ดู ที่นี่) ที่ได้ “ฟักกลิ้ง ฮีโร่” นักร้องชื่อดังมาช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีบส่งผู้ป่วยที่มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ไปโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคอัมพาตในประเทศไทย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลไม่ว่าจะใช้สิทธิรักษาพยาบาลใด ทั้ง สิทธิหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับการส่งต่อเป็นล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง และยังมีการเปิดตัว “แอปพลิเคชัน stroke fast track” ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และ แอนดรอยด์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น ชื่อว่า ‘stroke fast track’ (ดู ที่นี่) ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของแอปพลิเคชันนี้ ประกอบด้วย บทความหรือความรู้ต่างๆ ที่คนไทยทุกคนควรจะต้องรู้เกี่ยวกับโรคอัมพาต มากกว่า 100 บทความ และจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และมีแบบคัดกรองสุขภาพซึ่งจะมีคำถามต่างๆ เช่น เพศ อายุ มีโรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อประเมินว่าผู้ที่ใช้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัมพาตมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะให้เข้าไปลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ของตนเอง เบอร์โทรศัพท์ของญาติที่ใช้ติดต่อกรณีฉุกเฉิน
“นอกจากความรู้เรื่องคัดกรองสุขภาพแล้ว แอปพลิเคชัน stroke fast track นี้ยังประกอบด้วยประโยชน์ อีก 2 ข้อ คือมีข้อมูลให้เราค้นหาได้ว่า เวลาที่เราเจ็บป่วยอยู่ ณ จุดใดของประเทศ แอปพลิเคชันนี้จะแจ้งว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ ขณะนั้นคือโรงพยาบาลอะไร อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุกี่กิโล พร้อมเบอร์โทรศัพท์สามารถติดต่อได้ ผู้ป่วยสามารถกดเข้าไปที่ในแอปพลิเคชันนี้ โทรได้ทันที และอีกหนึ่งข้อดี คือ หากเกิดเหตุเกิดฉุกเฉินขึ้น และผู้ป่วยอยู่คนเดียว ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 ได้ โดยไม่ต้องพูด แต่ข้อมูลของผู้ใช้ทั้งหมดไปปรากฏที่หน้าจอของ 1669 ทุกจังหวัดในประเทศไทย หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วจะมีรถพยาบาลไปรับ ณ จุดเกิดเหตุ แล้วนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันเวลา” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน stroke fast track นี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จึงสามารถประสานงานได้อย่างรวดเร็ว.
- 383 views