เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : เอ็นจีโอรวมตัวย้ำยินดีให้ตรวจเงิน สสส.แต่ควรให้โอกาสชี้แจงการทำงานด้วย ให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย
วันที่ 22 ต.ค. ที่อาคารคริสตจักรแห่งประเทศไทย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภค เครือขายผู้ติดเชื้อ ฯลฯ รวม 12 เครือข่าย จัดแถลงข่าวเปิดตัว "ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน" โดยยืนยันจุดยืนที่ต้องการให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นของประชาชน รวมถึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยปราศจากการแทรกแซง
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์สุรา กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการตรวจสอบ สสส.ของหน่วยงานต่างๆ เพราะองค์กรอย่าง สสส.ควรจะต้องตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามอยากให้หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย
ขณะที่นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้หญิง กล่าวว่า ไม่ได้ปกป้อง สสส. เพราะรับเงิน สสส. และยืนยันว่าสามารถตรวจสอบ สสส.ได้ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายต้องการทราบว่าเรื่องรายงานของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ระบุว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นั้นผิดอย่างไรบ้าง รวมถึงต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ตรวจสอบ
ที่มา: www.posttoday.com
นสพ.มติชน รายงานแถลงการณ์เครือข่ายผนึกกำลังหนุน 'สสส.' ดังนี้
เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายศาสนา เครือข่ายประกันสังคม คนทำงาน เครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เครือข่ายพุทธิกา และเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ร่วมแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
จะเด็จ เชาวน์วิไล เครือข่ายองค์กรผู้หญิง
ขณะนี้สังคมเกิดความสับสนและไม่เข้าใจ ในเรื่องการทำงานของกองทุน สสส.ในหลายประเด็น ซึ่งการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งหรือใช้เงินของ สสส.มาเพื่อปกป้อง สสส. เพราะแม้ภาคีจะทำงานโดยรับทุนก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นลูกน้อง สสส.หลายเครือข่ายเกิดขึ้นก่อนที่จะมี สสส.ด้วยซ้ำ
ภาคประชาชนเชื่อว่าการตรวจสอบของรัฐบาลสามารถทำได้ และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในทุกองค์กร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แม้แต่ภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็ยินดีให้ตรวจสอบการทำงานเช่นกัน แต่สิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ คือ การได้รับโอกาสอธิบายการทำงานว่า วัตถุประสงค์ของการทำงาน สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างไร
การรวมตัวของภาคีเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและมีความเป็นห่วงว่า ขณะนี้สังคมยังได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน บางความเห็นก็พูดว่า สสส.ดีมากๆ บางความเห็นก็บอกว่า สสส.แย่ไปทั้งหมด แต่ความจริงย่อมมีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่ต้องปรับปรุง เชื่อว่าการตรวจสอบเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมามีโครงการที่ได้รับทุนจาก สสส.นับหมื่นโครงการ ทุกคนย่อมมีสิทธิพูดว่างานที่ทำนั้นจะสร้างสุขภาพได้อย่างไร
กรณีการทำงานของ สสส.ครอบคลุมคำว่า "สุขภาวะ" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ความจริงความหมายของคำว่าสุขภาวะก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือทำให้สังคมเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ละเรื่องที่ สสส.ทำมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน เช่น การเข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนเลิกเหล้า เมื่อเลิกเหล้าแล้ว โครงการเกษตรอินทรีย์ หรือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พืชปลอดสารพิษ ก็จะเป็นโครงการที่เข้าไปต่อเนื่องเกื้อหนุนประชาชนได้ เป็นต้น ซึ่งสุขภาวะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้การยอมรับ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศถึงความหมายสุขภาวะไว้อย่างกว้างขวาง และเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกต้องทำงานในเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น่าจะเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ยังมีปัญหาก็ต้องยอมรับ และช่วยกันแก้ไข แต่ต้องมองภาพให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องนโยบายการทำงาน
ขอย้ำว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องยอมรับการตรวจสอบ และเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน
คำรณ ชูเดชา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์
โครงการสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการที่มีการชี้ว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. แต่สาเหตุที่ สสส.ต้องสนับสนุนโครงการสวดมนต์ข้ามปี สืบเนื่องจากตั้งแต่ปี 2553 เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตเกือบร้อยราย จึงเริ่มพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยด้วยการเปิดพื้นที่ทางสังคม จากเมาข้ามปีเป็นสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งปีที่ผ่านมาสำนักพุทธศาสนารายงานว่า มีคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีถึง 10 ล้านคน
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิยามการสร้างสุขภาวะของสังคม
พระดุษฎี เมธังกุโร เครือข่ายพุทธชยันตีสังฆะเพื่อสังคม
การสวดมนต์ข้ามปีถือเป็นโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรง ทั้งทางกาย ทางใจ เพราะเป็นการสร้างพื้นที่ทางเลือกให้กับประชาชนหันมาสวดมนต์ แทนการไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามปี ขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ หรือก่อเหตุอาชญากรรมตามมาได้ การที่ สสส.เข้ามาสนับสนุนทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจ ทั้งมาร่วมกิจกรรมที่ท้องสนามหลวง เดิมก็จัดมาทุกปีแต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก รวมไปถึงผู้ที่รับชมและปฏิบัติตามผ่านทางโทรทัศน์ ขณะที่สำนักพุทธศาสนามีงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีสำหรับทำโครงการศีล 5 มีแต่คนลงชื่อ แต่ไม่สามารถวัดผลอะไรได้ ถ้าไม่มี สสส.การทำงานเรื่องเหล่านี้จะยิ่งยากมาก ไม่เกิดกระแส
โครงการสวดมนต์ข้ามปีจึงถือว่าตรงกับนิยามด้านสุขภาพของ สสส. และเป็นนิยามเดียวกันกับโครงการลดเหล้าเข้าพรรษา เป็นโครงการที่มีประโยชน์ และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่เข้าใจเรื่องนี้
จิตติมา ภาณุเดชะ เครือข่ายสุขภาวะทางเพศ
การทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการแจกถุงยางอนามัย แต่เครือข่ายได้สร้างนวัตกรรมใหม่ในการแก้ปัญหา โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปผลักดันให้เกิดความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และการสร้างศักยภาพชุมชนให้พัฒนาตัวเองในเรื่องเหล่านี้ ปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อนของปัญหาอย่างมาก การแก้ปัญหา ไม่สามารถใช้แค่วิธีการใดเพียงวิธีการเดียวได้ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่
ถือเป็นเรื่องหลักที่เครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ารับทุน สสส.ได้เข้าไปดำเนินการอยู่ตลอด
มีนา ดวงราษี ประธานเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน
หลายคนมองว่าเรื่องการอ่านเป็นงานของกระทรวงศึกษาธิการ แต่แนวทางของกระทรวงศึกษาฯ จะไปเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ขณะที่โครงการส่งเสริมการอ่านที่เครือข่ายทำอยู่ จะเน้นเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาทางการด้านสมอง กระตุ้นการเรียนรู้ อ่านเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าเด็กในวัย 5 ขวบแรก กว่าร้อยละ 80 จะเป็นช่วงที่เซลล์สมองมีการพัฒนามากที่สุด การปลูกฝังส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือนิทานวันละ 10-15 นาที จะช่วยให้สมองมีการเติบโต ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปในตัวด้วย
หรือกรณีที่มองว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้วนั้น ก็เป็นจริง แต่กระทรวงก็จะเน้นเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีงานเยอะมาก และมองเรื่องการตรวจคัดกรอง ดูเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่การพัฒนาทางความคิด ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกระบวนการ และในส่วนของกรมสุขภาพจิตเองก็จะเน้นความร่วมมือกับศูนย์เด็กเล็กที่เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีภาคเอกชน ขณะที่เครือข่ายจะเข้าร่วมกับเอกชนด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำงานของเครือข่ายยังเป็นงานกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 1 พันครอบครัวเท่านั้น
อรุณี ศรีโต ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน
แรงงานในประเทศไทยมีอยู่ 2 กลุ่ม คือแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ในส่วนของแรงงานนอกระบบที่พบมากกว่า 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ต้องทำงานหนัก เช่น กลุ่มเย็บผ้าต้องทำงานตั้งแต่ตี 5 ถึง 4 ทุ่ม และมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา หรือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องทำงานหนัก รายได้น้อย ทำให้มีความเครียด หันไปสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ตรงนี้ก็ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตามมาได้
แต่ปัจจุบันที่เครือข่ายลงไปทำงานในพื้นที่ ทำให้มีคนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่มากขึ้น และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรมกลับไม่เห็นทำอะไรกับเรื่องนี้เลย
ทองพูล บัวศรี เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน
ปัจจุบันเด็กเร่ร่อนจะมีจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่ภาครัฐปฏิเสธการรับผิดชอบ ทางเครือข่ายจึงเข้าไปดูแล แม้จะไม่ได้รับงบประมาณจาก สสส.โดยตรง แต่ก็ถือว่าได้รับทางอ้อม เพราะรัฐไม่ให้งบประมาณสนับสนุน หรือเข้าถึงงบประมาณกองทุนภาครัฐก็ยากมาก เพราะมีกฎกติกาเยอะ แต่ก็ได้รับงบจาก สสส.มาสนับสนุน ทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ขณะนี้สามารถแบ่งกลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้มากถึง 14 กลุ่ม อาทิ เด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าวเร่ร่อน แรงงานเด็ก
ซึ่งแม้ว่าจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว แต่ข้อมูลตรงนี้ภาครัฐเองก็ยังไม่เคยมี มีเพียงข้อมูลจากภาคเอกชนเท่านั้น
แถลงการณ์เครือข่ายสนับสนุน สสส.
1.ขอสนับสนุนการทำงานของ สสส. มีขอบเขตการสร้างเสริมสุขภาพ ตามนิยามของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ซึ่งหมายถึงการใดๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพบว่าการประเมินผล 10 ปี องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ได้ยกให้ สสส. เป็นต้นแบบเพื่อขยายงานสร้างสุขภาวะในประเทศอื่น และเห็นว่าเป็นทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้
2.สนับสนุนหลักการให้ สสส. และองค์กรอิสระอื่น เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ ตามมาตรฐานสากลและไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบและผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครือข่ายต่างๆ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ ได้มีโอกาสได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการชี้แจงอย่างเป็นธรรม
3.สสส.เป็นองค์กรที่เป็นกลไกอิสระ แม้จะมีการปรับปรุงการทำงานของ สสส. แต่ต้องคงเจตนารมณ์กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไว้
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2558
- 3228 views