นสพ.โพสต์ทูเดย์ : เมื่อ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ตัดสินใจ "ไขก๊อก" จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในขณะที่กำลังถูกรุมตรวจสอบจากรอบด้าน สภาวะในองค์กร สสส.และคนที่อยู่รายล้อมต่างก็อยู่ในสถานะ "ระส่ำ" เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ก่อนหน้านี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน คือ การถูกตราหน้าจากองค์กรตรวจสอบว่า ใช้เงินผิดประเภท และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จนทำให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ถูก ม.44 สั่งพักงานยาว
ทั้ง สสส.และ สปสช.ก่อตั้งโดยการสนับสนุนของ นพ.ประเวศ วะสี ในยุคปฏิรูประบบสุขภาพ ก่อนจะแตกดอกออกผลในช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ผ่านทั้งการรัฐประหาร และรัฐบาลปกติ แต่ทั้งสองหน่วยงานก็อยู่รอดปลอดภัยดี
เพราะแคมเปญรณรงค์งดเหล้า เลิกบุหรี่ ของ สสส.และชื่อของ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น อยู่ในใจของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ทว่าหลังภารกิจของทั้งสององค์กรถูกขยายออก คำถามที่ดังมากขึ้นจากส่วนราชการ ก็คือ จะทำอย่างไรให้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาทของ สปสช. และงบประมาณจาก 2% ของภาษีบาปที่ สสส.ได้รับนั้น ใช้ได้เกิดประโยชน์มากกว่านี้
ยิ่งมีเสียงรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ทั้งสององค์กรเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะพวกพ้อง และบางองค์กรอาจเอาเงินไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการรัฐ รัฐบาลจึงหูผึ่ง
ธงที่ออกมาจากรัฐบาลคือการประกาศว่าถึงเวลาที่จะต้องลงดาบ ให้นำเงินทั้งหมดกลับคืนมาให้ได้
เรื่องของ สปสช.นั้นจบไปแล้ว เพราะเงินส่วนใหญ่เป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน 48 ล้านคนทั่วประเทศ และได้ปรับเกลี่ยร่วมกับหน่วยงานหลักอย่าง สธ. จนลงตัวในระดับหนึ่ง ทำให้งบประมาณปี 2559 คืบหน้าเป็นอย่างดี
จะมีปัญหาก็แต่เพียงระดับหัวขององค์กรที่ยังติดพันกับการตรวจสอบอันยุ่งเหยิง ยังกลับมาไม่ได้เท่านั้น
ขณะที่ สสส. อยู่ในสถานะ "โชกเลือด" กว่า เพราะนอกจากผู้จัดการฯ จะไขก๊อกก่อนการสอบสวนจะเสร็จสิ้นแล้ว แผลจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ถูกเปิดมา ก็ล้วนเป็นแผลเหวอะหวะทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ "ใช้เงินไม่ถูกวัตถุประสงค์" นับร้อยโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้เงินในบางโครงการ "สูงเกินจริง" หรือเรื่องของ "เจ้าพ่อเจ้าแม่" ผู้อยู่เบื้องหลังการอนุมัติเงินให้เอ็นจีโอหน้าเดิมๆ ในโครงการน้อย-ใหญ่
รู้กันดีว่าหลังประเทศไทยถูกปรับให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงเมื่อปี 2544 ทุนสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนข้ามชาตินั้นหดหายไปหมด ทำให้เอ็นจีโอไทยเหลือแหล่งทุนเพียงไม่กี่แห่ง และในบรรดาไม่กี่แห่งนั้น สสส. ที่ได้รับภาษีเหล้า-บุหรี่ ปีละ 2% หรือกว่า 4,000 ล้านบาท ถือเป็นเสาหลัก
สารพัดโครงการที่แม้จะไม่เกี่ยว เช่น การพัฒนาสื่อมวลชน การอนุรักษ์ป่า หรือการส่งเสริมอาชีพในชุมชน จึงต้องเขียนโครงการให้เกี่ยวกับ "สุขภาวะ" ไปด้วย เพื่อจะขอแบ่งเงินมาดำเนินโครงการ
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อร้องเรียนที่คนทำงานกับ สสส.บ่นเป็นประจำ แต่นับเป็นครั้งแรกที่ สสส.เข้าสู่ระบบการตรวจสอบเข้มข้นแท้จริง
ขณะเดียวกัน ไม่น่าแปลกใจว่าจะมี "คนใน" คอยส่งข้อมูลให้ คตร.อย่างลับๆ เพราะในรายงานเบื้องต้น มีหลายประเด็นที่รู้กันเฉพาะคนใน
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ระบุว่า ผลการตรวจสอบจะส่งถึงมือนายกฯ ในสัปดาห์หน้า รวมถึงข้อมูลที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจการจ่ายเงินของ สสส.ให้สถาบันอิศรา, มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยด้วย
คำถามสำคัญ ก็คือ อนาคตหลัง สสส.ถูกสยบด้วยฝีมือทหาร อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
ประการแรก เอ็นจีโอทั้งเล็กใหญ่ อาจถูกชะลอโครงการ โดยเฉพาะที่ไม่ตรงความหมายว่าด้วย "สุขภาพ" เป็นต้นว่า อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ หรือต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ประการที่สอง องค์กรสื่อฯ อย่างสถาบันอิศราฯ รวมถึง "สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" และ "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย" ที่ถูกนายกฯ ตำหนิอยู่บ่อยๆ อาจเสียรังวัดไปด้วย แม้จะมีการชี้แจงว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่าก็ตาม
ประการที่สาม กระบวนการสรรหาผู้จัดการ สสส.คนใหม่หลังจากนี้ น่าจะมีความพยายามจากรัฐบาลเพื่อส่งคนที่ตัวเองคุมได้ หรือเลือกหมอที่หัวอ่อนๆ จาก สธ.เข้ามาเป็นผู้จัดการ สสส.แทนกลุ่มก๊วนที่ยึดครองอยู่เดิม
นั่นหมายความว่า ทิศทางนโยบายด้านการรณรงค์สุขภาพ รวมถึงการสนับสนุนภาคประชาชน อาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
เรื่องสุดท้าย อนาคตของ สสส.ก็ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เพราะหากรัฐธรรมนูญใหม่ บัญญัติให้เลิกการจ่ายตรง "ภาษีบาป" เข้าสู่องค์กร สสส.ก็ไม่น่าจะเหลือบทบาทอะไร เพราะทุกภารกิจ งบประมาณซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นเกือบทั้งหมด เนื่องจาก สสส.ถูกวาดภาพให้เป็นท่อน้ำเลี้ยงอัดฉีดเงินเพื่อรณรงค์
ยิ่งนานวัน ธงเหล่านี้ก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ ทั้งคนในคนนอก ประเมินแล้วว่า งานนี้ สสส.รอดพันจากการถูก "รื้อใหญ่" ยากแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 ตุลาคม 2558
- 12 views