นสพ.โพสต์ทูเดย์ : งงกันเป็นไก่ตาแตก เพราะอยู่ดีๆ รัฐบาลก็นำทีมคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบองค์กร "คนดี" อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างเข้มข้น
งงก็เพราะช่วง "สถานการณ์พิเศษ" อย่างรัฐบาลทหารนั้น สสส.มักจะอยู่รอดปลอดภัย และมักจะได้รับโปรโมทให้ได้งานโครงการพิเศษเพิ่ม ด้วยสายสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ยิ่งใหญ่เบื้องหลัง สสส. อย่าง หมอประเวศ วะสี รวมถึงคนที่อยู่รายล้อมกับบรรดาขุนทหาร
ต่างจากช่วงที่ "ฝ่ายการเมือง" เป็นรัฐบาล ที่ สสส.มักจะถูกล้วงลูกด้วยการส่งคนเข้ามาเป็นบอร์ด หรือส่งคนเข้ามา "หาผลประโยชน์" อย่างต่อเนื่อง จนบรรดาเอ็นจีโอ-ภาคประชาชนที่อยู่รายล้อมต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอยู่ร่ำไป
สถานการณ์พิเศษนี้เริ่มต้นมาจากความ "หมั่นไส้" เงินถุงเงินถังขององค์กรตระกูล ส. ซึ่งหมอประเวศมีส่วนสำคัญในการผลักดัน โดยเฉพาะ สสส. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ทั้งสององค์กรถูกตีตราจากระบบราชการว่า นอกจากจะได้งบประมาณสูงเกินจริงแล้ว เงินยังถูกเกลี่ยไปให้ "เอ็นจีโอ" หน้าเดิมๆ และในที่สุดก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากได้คอนเนกชั่นภาคประชาชน ผ่านการจ่ายเงินเท่านั้น
กองทุนแสนล้านอย่าง สปสช.นั้นถูกไล่บี้โดย คตร.ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้จะยังไม่พบการทุจริตของผู้บริหาร หรือการจ่ายเงินเอื้อประโยชน์พวกพ้องอย่างที่ถูกกล่าวหา
คตร.เพียงแค่กังวลเรื่อง "การใช้เงินผิดประเภท" ที่ยังเป็นข้อถกเถียง แต่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ ก็ถูกเด้งไปแขวนนานหลายเดือนแล้ว
ขณะที่ สสส.นั้นอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน นั่นคือมีธงจากฝั่งรัฐบาล-ส่วนราชการแตะมือกันให้ตรวจสอบการใช้ภาษีบาปปีละ 4,000 ล้านบาท ของ สสส.ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
ธงที่ว่าถึงขนาดมีความพยายามเขียนไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ยกเลิกการจ่ายภาษีบาปตรงเข้าไปในหน่วยงาน ในรูปแบบที่ สสส.และไทยพีบีเอสรับอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามทั้งสองหน่วยงานก็สู้ด้วยการอาศัยเครือข่ายออกมาต่อต้าน กระทั่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้าล้มเลิกความคิดไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาสู่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีแนวโน้ม ว่า สสส.จะมีหนทางที่สดใสขึ้น เพราะได้รับมอบงานใหญ่ "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "ประชานิยมฉบับลุงตู่" และสายสัมพันธ์ระหว่างสมคิดกับหมอประเวศนั้นก็หนาแน่น ยากจะลบเลือน
แต่การเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็มิได้นำพา เพราะกระบวนการตรวจสอบในมือ คตร.อันอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรมที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีนั้นยังเดินหน้าต่อ
ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ไพบูลย์ คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งถูกมองว่าไม่ชอบองค์กรตระกูล ส.เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่า สสส.จะได้รับงานใหญ่เพียงใด แต่ธงที่มาจาก คตร.และรัฐบาลนั้นก็ยังชัดเจนว่าต้องการรื้อระบบการจัดการภายใน สสส.ให้ได้
ล่าสุด พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.นั้น ออกมาเปิดเผยว่า โครงการของ สสส.ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นอาจมีถึงหลายร้อยโครงการ
นั่นหมายความว่า เรื่องสวดมนต์ข้ามปี เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ถูกแพลมออกมาก่อนหน้านี้ เป็นแค่ออร์เดิร์ฟ!
แว่วว่าข้อมูลที่ส่งไปยัง คตร.นั้นละเอียดถึงขั้นว่าจ่ายให้เอ็นจีโอหน้าเดิมคนไหนเป็นประจำ จะวิ่งงานได้ต้องวิ่งผ่าน "เจ้าพ่อเจ้าแม่" คนไหน หรือมี "สื่อมวลชน" รายใดบ้างที่ได้รับประโยชน์จากโครงการของ สสส.
แน่นอนข้อมูลพวกนี้คนในแวดวงย่อมพอรู้กันดี และรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีข้อมูลเช่นกัน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคต่างหลับตาข้างหนึ่ง เพราะรู้ดีว่าหากแตะเงินก้อนนี้จะกระทบกับมวลชนจำนวนมากที่ สสส.เป็นเจ้าของ และอาจทำให้รัฐบาลอายุสั้นลง
แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ สสส.อยู่ในสถานะ "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" ด้วยอำนาจที่ล้นฟ้าของรัฐบาล และการมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด เคยอุดหนุนกันมาก่อน จึงไม่สามารถที่จะต่อต้านอะไรได้
ขณะเดียวกัน ภาพของ "คนดี" อย่าง สสส. ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพของ "คนดี" ของทหาร เช่นเดียวกัน การเข้ามาตรวจสอบของรัฐบาลจึงไม่ใช่ภาพของ "การเมือง" แทรกแซง "คนดี" แต่เป็นเรื่องของ "คนดี" ตรวจสอบ "คนดี" ด้วยกันเอง
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. จึงมีทางเลือกเพียงทางเดียวคือขอโอกาสชี้แจงกับ คตร. เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่เคยมีเวทีใดให้ สสส.ได้ให้ข้อมูลการทำงานกับทหารเลยแม้แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้ สสส.จึงต้องรับศึกหนัก และต้องประเมินยุทธวิธีอย่างดี เพราะหากนิ่งไปก็อาจแปลว่ายอมรับกับข้อกล่าวหา ส่วนถ้าสู้หนักก็อาจเจอตอบโต้จากทหาร จนทำให้หน่วยงานที่อุตส่าห์ประคบประหงมกันนาน 10 กว่าปี อันตรธานหายไปในพริบตาเดียวก็ได้เช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 ตุลาคม 2558
- 4 views