ผลงานพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก อภ.ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2558ด้านสังคม จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 40 ผลงาน
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2558 แก่ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และคณะนักวิจัย ในโอกาสที่ผลงานพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก(Fluvac H5)Development of Avian Influenza Vaccine ขององค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2558 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคม
นพ.นพพร เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้ส่งผลงานพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก (Fluvac H5) Development of Avian Influenza Vaccine เข้าประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2558 ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสความตื่นตัวด้านนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการไทย ได้ใช้ความคิด สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในธุรกิจ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริการ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิต พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ก้าวเข้าสู่ตลาดเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างยั่งยืน ปรากฏว่าองค์การเภสัชกรรมได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคม จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 40 ผลงาน
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า นวัตกรรมวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็น สายพันธุ์ H5N2 (หรือ ชื่อการค้า “Fluvac H5”) ซึ่งเป็น “นวัตกรรมระดับโลก”โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟัก (Egg-based Technology) ที่มีความปลอดเชื้อจำเพาะ (Specific Pathogen Free, SPF) ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ให้ผลผลิตสูง เป็นวัคซีนรูปแบบของเหลวที่ต้องเก็บโดยการแช่แข็ง (-20 องศาเซลเซียส) และมีความคงตัวนานถึง 1 ปี ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพจนได้รับใบอนุญาตการผลิต เพื่อใช้ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 - 49 ปี เมื่อมีการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ซึ่งถือเป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ตัวแรกของโลกที่จะใช้ได้ในกรณีมีการระบาด
วัคซีนดังกล่าวองค์การฯ ได้นำหัวเชื้อมาจากสถาบัน The Institute of Experimental Medicine (IEM) ประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นสถาบันแห่งแรกในโลกที่ทำการศึกษาวิจัยวัคซีนสายพันธุ์นี้ในมนุษย์ และเป็นวัคซีนไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นตัวแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีมีการระบาด วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ให้โดยการพ่นเข้าจมูก ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานเมื่อเกิดการระบาด และมีข้อดีในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระบบ Cell-mediated immune system ร่วมกับ Humoral immune system จึงมีความแตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นเชื้อตายที่ส่งผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในระบบ Humoral Immune system เท่านั้น วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิด Cross Neutralizing Immunity ต่อเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่น ได้ดีกว่าวัคซีนสายพันธุ์เดียวกันในรูปแบบเชื้อตาย ส่งผลให้วัคซีนนี้มีลักษณะของ Broader immunogenicity มากกว่า กล่าวคือ สามารถป้องกันไวรัสไข้หวัดนกที่มีสายพันธุ์ต่าง(Heterologous strain) ได้ดีกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายที่มีใช้อยู่เดิม ซึ่งป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ตรงกับสายพันธุ์วัคซีนเท่านั้น (Homologous strain)
“การพัฒนาวัคซีนดังกล่าวนี้จะส่งผลประโยชน์ต่อสังคมไทย จะสามารถควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกได้ มีอัตราการป่วยและตายจากไข้หวัดนกน้อยลง ค่าใช้จ่ายของประเทศในด้านสุขภาพก็จะลดลง เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนในประเทศ ประชาชนมีวัคซีนใช้เมื่อเกิดการระบาด อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งแก่ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศที่เกิดการระบาดขึ้น ไม่ว่าแห่งใดในโลก หากมีวัคซีนสำรองและเพียงพอ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะประเทศผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจากองค์กรนานาชาติ ได้แก่ WHO, US-CDC และมีการสร้างเครือข่ายกับประเทศผู้ผลิตวัคซีนกำลังพัฒนาจากประเทศอื่นๆ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างงานในประเทศให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และงานวิจัยที่มีความท้าทายอีกด้วย” ผู้อำนวยการ อภ.กล่าว
- 48 views