ไทย - ญี่ปุ่น ตั้งศูนย์ตรวจวินิจฉัย วิจัย และค้นหามะเร็งระบบทางเดินอาหารในระยะเริ่มแรก ตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ตับอ่อน ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบระยะแรกรักษาได้ผล เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยสูงขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคได้อีกด้วย
วันที่ 30 กันยายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายยาซูฮิสะ ชิโอซากิ (Mr.Yasuhisa Shiozaki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น พัฒนาศักยภาพและความรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ตลอดจนสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมด้านการส่องกล้องและการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับภาควิชาระบบทางเดินอาหารและตับ มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนานในด้านการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง จัดตั้งศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (Endoscopy Center) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ในการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น (Early Cancer Detection Training Center) ในภูมิภาคอาเซียน
ในความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่าครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และประสบการณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เพื่อตรวจ วินิจฉัย วิจัยหาสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับและตับอ่อน หากค้นหาได้ในระยะเริ่มแรก จะรักษาได้ผลดี เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้สูงขึ้น ดังนั้นความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคมะเร็งของสองประเทศครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพ อันจะส่งผลไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยและประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี และมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 61,000 คน จากสถิติสาธารณสุขปี พ.ศ.2554 พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งหมด 111,864 คน โดยพบผู้ป่วยมะเร็งตับ 47,052 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 49,855 คน ดังนั้นเพื่อลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง จึงต้องเร่งป้องกันและควบคุม โดยการตรวจคัดกรองให้ได้ตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกที่โรคยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ทำการรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษามะเร็งในระยะลุกลาม
- 69 views