10 ปีข้างหน้า รัฐต้องจ่ายงบประมาณเพื่อดูแลผู้เกษียณอายุและคนชราภาพปีละ 8 แสนล้าน จากปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น บำนาญข้าราชการ 60% เบี้ยคนชรา 20% อีก 20% ที่เหลือเป็นสมทบประกันสังคม กบข. กอช.
เว็บไซต์แนวหน้ารายงาน เมื่อวันที่ 23 ก.ย.58 นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาระงบประมาณในการดูแลผู้เกษียณอายุและดูแลคนชราภาพของรัฐบาล ล่าสุด อยู่ที่ปีละ 3 แสนล้านบาท หรือ ประมาณ 2% ของจีดีพี มีการประมาณการว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนล้านบาท หรือ 3% ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมดูแลบริหารจัดการให้ประเทศมีรายได้เพียงพอในการดูผู้เกษียณและคนชราให้เพียงพอและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังเชื่อว่า ภาระที่เพิ่มขึ้นไม่มีปัญหากับการเงินการคลังของประเทศ เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งคลังจะดูแลควบคุมภาระดังกล่าวให้เป็นสัดส่วนไม่เกินกรอบของจีดีพี เหมือนกับกำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
"รัฐสามารถจ่ายภาระที่เพิ่มขึ้นได้อยู่แล้ว ซึ่งภาระที่ดูแลผ่านระบบประกันต่างๆ ทำให้ภาระการคลังน้อยกว่า ซึ่งรัฐบาลจะต้องดึงประชาชนให้เข้าสู่ระบบประกันชราภาพทั้งภาคบังคับและสมัครใจให้มากที่สุด เพื่อลดภาระปลายทางของงบประมาณให้น้อยลง" นายวิสุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน รัฐบาลมีภาระจ่ายดูแลผู้เกษียณอายุ ทั้งระบบบำนาญข้าราชการ 2.2 ล้านคน คิดเป็นภาระงบถึง 60% การจ่ายเงินเบี้ยคนชรา 7.7 ล้านคน คิดเป็นภาระงบ 20% และภาระส่วนเหลือที่อีก 20% เป็นการจ่ายสมทบให้กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่มีสมาชิก 11 ล้านคน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ตอนนี้มีสมาชิก 3 แสนคน คาดสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 5 แสนคน จากแรงงานนอกระบบทั้งหมด 25 ล้านคน
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ระบบการออมหลังเกษียณของไทยตอนนี้ถือว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มคนทำงาน แต่ยังมีปัญหาในส่วนของแรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน ที่ยังเข้าเป็นสมาชิก กอช. น้อย ซึ่งรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ให้แรงงานกลุ่มนี้เข้า กอช. มากขึ้น เพื่อให้มีรายได้ดำรงชีพหลังเกษียณอายุอย่างเพียงพอ
ที่มา: http://www.naewna.com
- 693 views