นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : คลังจัดแพ็กเกจ "สวัสดิการแห่งรัฐ" ชง ครม.แจก "เบี้ยประกันชีวิต 99 บาทต่อคน" ชดเชยกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วย พร้อมทั้ง "เบี้ยคนชรา-เงินอุดหนุน เด็กแรกเกิด-สวัสดิการการศึกษา" ช่วยผู้มีรายได้น้อยกว่า 8 ล้านรายที่ลงทะเบียนผ่าน 3 แบงก์รัฐ เริ่มก่อนสิ้นปี 2559
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแพ็กเกจสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีกว่า 8 ล้านราย ซึ่งได้มาลงทะเบียนไว้กับ 3 ธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จนถึงวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การช่วยเหลือด้านสวัสดิการดังกล่าวจะออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
"ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล โดยนำเลขบัตรประชาชนไปรันในระบบ รวมถึงตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทย ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ก็จะให้ผู้มีรายได้ น้อยเข้ามาเช็กสิทธิ์ ให้ผู้ลงทะเบียนมาดูว่ามีชื่อหรือไม่ หรือถูกตัดออกหรือไม่" นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับแพ็กเกจสวัสดิการดังกล่าวจะใช้เงินงบประมาณไม่มาก แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยยังไม่รวมถึงการบริการโดยสารรถประจำทาง และการโดยสารรถไฟ หรือโครงการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เนื่องจากระบบยังไม่พร้อมรองรับส่วนดังกล่าวในขณะนี้ ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบเพื่อช่วยเหลือต่อไป
ทำประกัน 99 บาท/หัว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเกี่ยวกับการจ่ายสวัสดิการแห่งรัฐ หลังจากที่ปิดรับลงทะเบียนปีนี้ไปแล้ว โดยกำหนดว่าจะเริ่มจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้ที่มีสิทธิ์จากการลงทะเบียนได้ก่อนเดือน ธ.ค.นี้
"มาตรการจ่ายสวัสดิการที่คุยกันจะมีประมาณ 3-4 มาตรการ ทั้งของกระทรวงการคลังและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะไม่มีการไปตัดสิทธิ์โครงการอื่น ๆ ที่บางคนเคยได้อยู่ แต่จะมีการกลั่นกรองรายใหม่ ๆ ที่จะได้รับสวัสดิการ" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับมาตรการแรก คือ การจัดทำประกันชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้กับผู้มีสิทธิ์ทุกราย โดยอัตราค่าเบี้ย 99 บาทต่อราย มีความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิง เป็นเงิน 50,000-60,000 บาท และจ่ายชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ วันละ 300 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการที่เหลือจะมีทั้งการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา การจ่ายสวัสดิการด้านการศึกษา และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
"เจตนาของการเปิดให้ลงทะเบียนก็คือ เพื่อที่จะให้สามารถจ่ายเงินได้ตรงตัว คือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ซึ่งการจ่ายสวัสดิการเหล่านี้ แนวโน้มจะให้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพราะกระทรวงการคลังอยากให้จ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยได้ขอให้ 3 แบงก์ของรัฐไปคุยกับผู้ที่มาลงทะเบียนขอให้เปิดบัญชีพร้อมเพย์ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ดี นายสมชัยกล่าวว่า แพ็กเกจสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะเป็นคนละมาตรการกับโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่เป็นการดำเนินการโอนเงินอุดหนุนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment
9 ก.ย.กดปุ่มจ่าย "เด็กแรกเกิด"
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะนำร่องจ่ายสวัสดิการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หลังจากนั้น จึงค่อยขยายไปยังการจ่ายสวัสดิการอื่น ๆ ต่อไป เมื่อระบบพร้อมแล้ว
โครงการดังกล่าว จะให้เงินอุดหนุนแก่พ่อแม่ที่ครอบครัวยากจน มีลูกเกิดระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2558-30 ก.ย. 2559 จะได้รับเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2559 เดือนละ 400 บาทต่อคนไปจนอายุครบ 1 ขวบ และในปีงบประมาณ 2560 จะได้รับเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่แรกเกิดไปจนอายุครบ 3 ขวบ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ว่าที่อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งยังอยู่ในปีงบประมาณ 2559 มีครอบครัวที่ได้รับสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดทั้งสิ้น 85,000 ราย รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะนำร่องจ่ายผู้ที่มีหลักฐานพร้อม ตรวจสอบแล้วถูกต้องเรียบร้อยก่อน จำนวน 30,000 ราย ในวันที่ 9 ก.ย. และที่เหลืออีก 55,000 ราย จะจ่ายอีกรอบภายในเดือน ก.ย.
"โครงการนี้เดิม กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเป็นคนจ่าย แต่ตอนนี้กรมบัญชีกลางจะนำมาจ่ายให้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยโอนเข้าบัญชี ไม่จ่ายเป็นเงินสด ซึ่งเราก็จะจ่ายไปให้ครบจนถึงปี 2560" นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวและว่า
ผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนโครงการนี้ จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน พร้อมเปิดบัญชีกับธนาคารใดก็ได้ เพื่อรองรับการโอนเงิน อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นคนละส่วนกับการจ่ายเงินสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีการลงทะเบียนผ่าน 3 แบงก์รัฐไป
ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 - 7 ก.ย. 2559
- 14 views