กระทรวงการคลังยังไม่ลดละความพยายามที่จะว่าจ้างบริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ แม้ว่าจะมีแรงต้านจากข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก จนต้องพับแผนนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ล่าสุด สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันว่าแผนการจ้างบริษัทประกันมาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการยังมีการศึกษาต่อ ยังไม่ได้พับแผนใส่ลิ้นชักไม่เดินหน้าต่อไปอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ตอนนี้ได้รวบรวมข้อเสนอจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หลังจากตกผลึกข้อมูลต่างๆ แล้ว ก็จะมีการเดินหน้าทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
สอดคล้องกับ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ออกมาระบุเช่นกันว่า ยังทำอยู่เรื่องการให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารควบคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ตอนนี้หลายฝ่ายไม่เข้าใจก็ต้องทำให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน และเมื่อพร้อมกันทุกฝ่ายก็จะดำเนินการต่อ เพราะต้องยอมรับว่าการรักษาพยาบาลข้าราชการมีช่องรั่วไหลอยู่ไม่น้อย ทำให้เป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น จากปีละ 6 หมื่นล้านบาท เป็นปีละ 7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่กรมบัญชีกลางก็เดินหน้าทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวข้าราชการ เพื่อใช้เป็นบัตรประจำตัวยื่นเมื่อเข้าการรักษา ก็ถือเป็นมาตรการขัดตาทัพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลการรักษาของข้าราชการ เพราะปัจจุบันไม่มีการเก็บข้อมูล โดยข้อมูลการรักษาจะอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น
อภิศักดิ์ ได้ระบุว่า มาตรการของกรมบัญชีกลาง คงสามารถแก้ปัญหาการรั่วไหลการรักษาพยาบาลข้าราชการได้ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเป้าหมายของการดำเนินการคือการสร้างฐานข้อมูลการรักษาข้าราชการเป็นรายบุคคล และการสร้างฐานข้อมูลรวมของการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อใช้ทำนโยบายและจัดสรรงบประมาณในอนาคต
จากการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นว่า รัฐบาลยังเดินหน้าให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เพียงแค่ตอนนี้พักรบ เพื่อไม่ให้เป็นแรงต้านจะสะเทือนการทำงานของรัฐบาล ที่มีเรื่องหนักทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองให้คอยแก้จนไม่มีเวลาหายใจอยู่แล้ว เรื่องรักษาพยาบาลข้าราชการยังถือเป็นปัญหาที่รอได้ แต่ระหว่างนี้ก็เตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งให้สาธารณชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
หากพิเคราะห์ดูจะเห็นว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มั่นใจว่าการให้เอกชนเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนั้น จะทำให้งบประมาณไม่เพิ่มขึ้นจากการรั่วไหลที่ไม่จำเป็น โดยที่สิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คนที่เบิกค่ารักษาถูกต้องไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนที่หาผลประโยชน์ เช่น เวียนเทียนรับยาไปขายต่อ เป็นต้น พวกนี้จะทำไม่ได้อีกต่อไป
บริษัทประกันเคยเสนอการบริหารให้กระทรวงการคลังรับฟังว่า การบริการรักษาข้าราชการจะดีกว่าเดิม โดยบริษัทประกันจะไปตั้งห้องรับรองในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง มีน้ำชากาแฟรับรอง เมื่อข้าราชการมารักษาก็มาที่ห้อง และเจ้าหน้าที่จะช่วยประสานงานการรักษาอีกทีหนึ่ง
แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นข้อเสนอหนึ่งเล็กๆ แต่ทว่าโดนใจกระทรวงการคลังอย่างมาก เพราะการคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการตั้งแต่ต้นทางจะช่วยปิดการรั่วไหลได้อย่างมาก และการทำเช่นนั้นได้ก็ต้องให้บริษัทประกันเข้ามาบริหาร เพราะมีบุคลากรและระบบพร้อมที่จะดำเนินการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมองต่อไปว่าให้บริษัทประกันบริหารคุมต้นทาง ระหว่างทาง ขณะที่ระบบบัตรประจำตัวรักษาพยาบาลของข้าราชการคุมปลายทาง เพราะข้อมูลการรักษาทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในระบบทั้งหมด และกำลังมีการพัฒนาระบบให้มีการเตือนว่ามีการรักษาพยาบาลที่ผิดปกติ เช่น การจ่ายยาจำนวนมากๆ ซ้ำๆ กันหลายโรงพยาบาล ข้าราชการคนนั้นก็จะถูกจับตาเป็นพิเศษ และหากตรวจว่ามีการทุจริตก็จะถูกดำเนินการเอาผิดได้รวดเร็วกว่าปัจจุบัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะน้อยกว่า
เมื่อดูภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท และปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถอยหลังไปไกลกว่านั้น ปี 2545 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ผ่านมาประมาณ 15 ปี ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
ข้อมูลที่สำคัญกว่านั้นคือ ภาระงบกว่า 7 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเป็นค่าผู้ป่วยนอกถึงปีละ 4 หมื่นล้านบาท มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่ารักษาทั้งหมด ในจำนวนนี้ 80% เป็นค่ายา หรือคิดเป็นเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นยานอกบัญชีหลักที่มีราคาแพง ซึ่งกระทรวงการคลังคิดว่ามีการเบิกจ่ายยาส่วนนี้มีส่วนเกินรั่วไหลไม่จำเป็นอยู่หลายพันล้านบาท การให้บริษัทเอกชนมาบริหารก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้มาก
อย่างไรก็ตาม การให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหาร ก็อาจจะมีปัญหาทำให้การเข้าถึงการรักษาของข้าราชการเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นแรงต้านรุนแรง ทำให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ได้ไม่ยั่งยืน และอาจต้องถอยหลังกลับมาใช้ระบบเดิม ทำให้การแก้ปัญหาย่ำอยู่กับที่
นอกจากนี้ ยังมีแรงต้านจากบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มบริษัทขายยาข้ามชาติที่มีผลประโยชน์เดิมพันมหาศาล รวมถึงการอธิบายให้ข้าราชการเข้าใจว่าการทำประกันนี้เป็นกระทรวงการคลังจ้างบริษัทประกันมาบริหารดูแล ไม่ได้ให้ข้าราชการไปทำประกันกับบริษัทเอกชน ทั้งหมดยังเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการคงหนีไม่พ้น จากภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการแก้ปัญหาโดยวิธีการแบบเดิมๆ ที่ทำอยู่และทำมานานยังไม่ได้ผล การทดลองวิธีการใหม่ๆ ที่ประเมินว่าได้ผลดีมากกว่าเสีย จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากอย่างมาก ก็ได้แค่ยื้อให้เกิดขึ้นได้ช้าที่สุดเท่านั้น
ผู้เขียน : เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง นสพ.โพสต์ทูเดย์
ขอบคุณที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560
- 12 views