ตาต้อกระจกเป็นสาเหตุตาบอดอันดับหนึ่งของคนไทย หมอปิยะสกล เผยที่ผ่านมามีขีดจำกัด ห้องผ่าตัดใน รพศ./รพท.มีจำกัด ผ่าต้อกระจกชนิดบอดได้ปีละประมาณ 5 หมื่นคน ยังมีผู้ป่วยตกค้างรอผ่าตัด 7 หมื่น และมีรายใหม่ปีละ 6 หมื่นคน ทั้งยังมีผู้ป่วยสายตาเลือนรางจากต้อกระจกรอรักษาอีก 1.2 แสนคน ปีนี้ปรับบริการ กรมการแพทย์จัดหน่วนสนับสนุนผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ไฮเทค ออกไปช่วยผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน เริ่มเขตสุขภาพที่ 10 ใช้เวลาผ่าตัดคนละ 30 นาที
วันนี้ (21 กันยายน 2558) ที่ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ปล่อยหน่วยสนับสนุนเครื่องมือผ่าตัดโรคตาต้อกระจกสู่ภูมิภาค (Mobile Cataract Equipment) ในโครงการ“สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากต้อกระจก ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์ ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัญหาตาบอดจากโรคต้อกระจก เป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวนมาก ผลสำรวจของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์หรือวัดไร่ขิง ปีพ.ศ.2556 พบว่า คนไทยมีความชุกตาบอดร้อยละ 0.6 สาเหตุอันดับหนึ่งร้อยละ 70 เกิดจากต้อกระจกชนิดบอด กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งป้องกัน โดยจัดโครงการ “สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” ผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้ฟรี
ซึ่งที่ผ่านมามีขีดจำกัด ผ่าต้อกระจกชนิดบอดได้ปีละประมาณ 50,000 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ทำในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัดซึ่งมีจำนวนห้องผ่าตัดจำกัด โดยมีผู้ป่วยตกค้างรอผ่าตัดประมาณ 70,000 คน มีรายใหม่เกิดขึ้นปีละประมาณ 60,000 คน และยังมีผู้ที่สายตาเลือนรางจากต้อกระจกรอรักษาอีกประมาณ 120,000 คน หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตาบอดถาวรได้ ในปีนี้จึงได้ปรับบริการ โดยให้กรมการแพทย์ประสานทุกภาคส่วนพร้อมเครื่องมือผ่าตัด ลงไปช่วยผ่าตัดในภูมิภาคที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ใช้เวลาผ่าตัดคนละ 30 นาที ได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น ตั้งเป้าจะผ่าตัดผู้ที่ตกค้างให้หมดไปภายในพ.ศ. 2560 ลดอัตราตาบอดให้ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกินร้อยละ 0.5
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ ได้นำข้อมูลความต้องการการสนับสนุนในพื้นที่มานำร่องจัดหน่วยผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ 1 คัน มูลค่า 10 ล้านบาท มีเครื่องมือทันสมัยชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาล ได้แก่ เครื่องผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง 2 เครื่อง กล้องจุลทรรศน์ผ่าตัดตา 3 ชุด เครื่องมือผ่าตัดต้อกระจก 10 ชุด และเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยไอน้ำ 2 เครื่อง รถมีระบบกันสะเทือน ป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์การแพทย์ และมีลิฟต์ยกเครื่องมือขึ้นลงได้ หน่วยเคลื่อนที่นี้จะไปให้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายพื้นที่ไปร่วมทำการผ่าตัด จะเริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ มีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกรอการผ่าตัดประมาณ 11,000 คน และหากการดำเนินการนี้ได้ผลดี จะมีการเพิ่มจำนวนหน่วยสนับสนุนไปที่เขตสุขภาพทุกเขต
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่ที่ใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานการผ่าตัดนี้ จะทำให้การผ่าตัดเร็วขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว สามารถป้องกันคนไทยไม่ให้ตาบอดจากตาต้อกระจกได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 คน นอกจากนี้ได้กระจายเครื่องมือตรวจสายตาชนิดง่าย เพื่อให้ อสม.ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้าน ผู้พิการ ตรวจคัดกรองและขึ้นทะเบียนรอผ่าตัด ซึ่งจะได้รับการผ่าตัดภายใน 30 วัน ส่วนผู้มีสายตาเลือนรางจะได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน
- 56 views