ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในเด็กเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของพ่อแม่สมัยใหม่ในยุคดิจิตอล ส่งผลให้พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไป มีชีวิตติดอยู่กับหน้าจอ ติดเกมส์ ไม่ออกกำลังกาย นิยมรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดซึ่งส่วนใหญ่มีแต่แป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ กลายเป็นปัญหาเด็กอ้วน และโรคแทรกซ้อนตามมา แพทย์โรคไตเผย พฤติกรรมพ่อแม่ ทำลูกเสี่ยงโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากให้ลูกกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ในปริมาณที่มากเกินไป จนอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็ก
รศ.นพ.อนิรุธ ภัทรากาญจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เมื่อนึกถึงโรคไต ใครๆ ก็คิดว่าโรคนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่และในผู้สูงอายุ แต่หารู้ไม่ว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ และในเด็กเล็ก ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดและเกิดขึ้นภายหลัง โดยโรคไตในเด็กที่เป็นแต่กำเนิด มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นไปยังท่อไต บางรายมีความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม บางชนิดเกิดจากการได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างตั้งแต่อยู่ภายในครรภ์
ส่วนสาเหตุโรคไตในเด็กโตหรือเกิดขึ้นภายหลัง มักมีสาเหตุมาจากภาวะไตอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอ หรือที่ผิวหนัง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคไตเนโฟรติกจากการสูญเสียโปรตีนปริมาณมากออกไปทางปัสสาวะ และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ภาวะเด็กอ้วน ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่จะนำไปสู่โรคไตในอนาคตได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันพบว่า เด็กไทยมีภาวะอ้วนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ในยุคใหม่ ที่ส่งผลไปยังเด็ก เช่น อาหารของครอบครัวที่เป็นอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานจัด เค็มจัดเกินไป และพ่อแม่ที่อาศัย คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือการใช้สมาร์ทโฟนสำหรับการทำกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า เด็กไทยอ้วนเร็วที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมอนามัยมีรายงานว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 และประมาณการว่า ในปีพ.ศ.2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1ใน 5 และเด็กวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงดังที่กล่าวมา และสอนให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก หากเด็กมีอาการบวมทั่วตัว ซึ่งช่วงแรกมักเห็นบวมชัดเจนที่หนังตา หรือเมื่อปัสสาวะของเด็กผิดปกติ เช่น มีสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกะปริบกะปรอย ออกปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ รวมถึงมีอาการซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก ผู้ปกครองควรนำเด็กพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกและรับการดูแลอย่างเหมาะสม จะสามารถป้องกันการเสื่อมของไตได้
แต่หากเด็กไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะเข้าสู่ภาวะไตเรื้อรัง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักจะตัวเล็ก มีการเจริญเติบโตช้า อาจเป็นเพราะ ความผิดปกติของสมดุลน้ำ กรด-ด่าง และเกลือแร่ ร่างกายขาดสารอาหาร มีของเสียคั่งในร่างกายหรือมีการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต
โรคไตในเด็กบางชนิดเช่น ไตอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาให้หายได้และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้ามีการตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและรับการรักษาที่เหมาะสม ส่วนโรคในกลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้
สำหรับกรณีที่เด็กมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็จะได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตเช่นเดียวกันกับในผู้ใหญ่ ได้แก่ การล้างไตผ่านทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation) ในการฟอกเลือด ผู้ป่วยไม่ต้องทำเอง แต่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ไตเทียมทุกสัปดาห์ๆ ละ 2-3 ครั้ง ใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 3-4 ชั่วโมง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เด็กต้องขาดเรียน
ส่วนการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ดูแลสามารถทำให้เด็กได้เองที่บ้านหรือที่โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการล้างไตทางช่องท้องโดยอาศัยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็ก เพราะเครื่องจะควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ จึงทำได้ในเวลากลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ โดยต่อสายล้างไตเข้ากับเครื่องเมื่อถึงเวลานอนของเด็ก การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติจึงเหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการอิสระจากการล้างไตตอนกลางวัน เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ และสามารถเล่นกับเพื่อนๆ ได้เหมือนปกติ
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกให้ห่างไกลจากโรคไตเป็นการดีที่สุด โดยมีข้อแนะนำดังนี้
ช่วงตั้งครรภ์ มารดาควรมีการตรวจติดตามโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก
ควรสังเกตอาการแสดงของโรคไตข้างต้น ถ้าพบความผิดปกติควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อแก้ไขสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคไต
ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโดยอาศัยพฤติกรรมการถ่ายปัสสาวะที่เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดอวัยวะหลังขับถ่าย ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ในเด็กโต ประมาณ 6-8 แก้ว / วัน) เพื่อให้รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ
กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก เพื่อให้ขับถ่ายปัสสาวะได้สะดวก
ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจมีผลเสียต่อไตได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมาใช้กับเด็ก
ระวังอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารจุบจิบ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานเกินไป และสนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- 2133 views