สธ.เผยผลสำเร็จการดำเนินงานประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติและครอบครัวในประเทศไทย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ขณะนี้ขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามประมาณ 1.7 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค
วันนี้ (27 สิงหาคม 2558) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านสาธารณสุขของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Regional Work Shop on Migrant Health) จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาความร่วมมือ และเรียนรู้ผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป สเปน และสวิสเซอร์แลนด์ นอกจากนั้นยังมีองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) องค์การอนามัยโลก กองทุนโลก (Global Fund) ร่วมเป็นเครือข่าย สร้างความร่วมมือในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามด้วย
นพ.สุริยะกล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2547 โดยจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามแรงงาน และในปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่หลบหนีเข้าเมือง ให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ได้รับการประกันสุขภาพ และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ผลการดำเนินการ ณ วันที่ 27 ก.ค. 2558 จำหน่ายบัตรประกันสุขภาพทั้งสิ้น 1,750,899 คน เป็นชาวกัมพูชา 609,785 คน เมียนมาร์ 994,355 คน และลาว 194,365 คน เพิ่มขึ้นจากในปี 2550 ที่มีเพียง 7 แสนคน
สำหรับบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว มีให้เลือก 3 แบบ คือครอบคลุม 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ราคาตั้งแต่ 1,000-2,100 บาท ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ราคา 365 บาทต่อปี สิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งด้านการรักษาพยาบาล บริการค่าใช้จ่ายสูงรวมถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี งานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
นพ.สุริยะกล่าวต่อว่า ผลดีจากการที่แรงงานต่างด้าวและครอบครัวได้รับการประกันสุขภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคของประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ได้ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพและความร่วมมือในการป้องกันโรค ได้อบรมคนต่างด้าวให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยทำหน้าที่เป็นล่ามในโรงพยาบาล และให้ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มผู้ป่วยต่างด้าว ตามหลักการบริการที่เป็นมิตรต่อแรงงานต่างด้าว (Migrant Friendly Service) และขยายความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชน อาทิ มูลนิธิรักษ์ไทย ในการดำเนินงานควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ในกลุ่มประชากรที่ระบบสาธารณสุขปกติเข้าได้ถึงยาก เช่น แนวชายแดน หรือในเขตสลัม เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลไทย มีนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ตลอดจนผู้มีปัญหาสถานะบุคคล หรือที่มักเรียกว่าคนไร้รัฐที่มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่แนวชายแดนทุรกันดารห่างไกล ด้วยความมุ่งหวังให้คนทุกคนบนแผ่นดินไทยมีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมการบริการที่จำเป็นและมีระบบป้องกันความเสี่ยงทางการเงินการคลังที่เหมาะสมกับทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
- 20 views