เมื่อเอ่ยถึงวัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์แล้ว หลายคนคงนึกถึงรูปปูนปั้นฤๅษีดัดตน โรงเรียนสอนนวด รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยแห่งแรก คือ วิทยาลัยการแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นเวลาหลายร้อยปี และในวันที่ 13 ก.พ.2558 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้มีกฎหมายคุ้มครองตำรับยาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทยของชาติขึ้นมา เพื่อเป็นการปกป้องหรือฉกฉวยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ไปใช้ประโยชน์ทางการค้าและเชิงพาณิชย์อย่างไม่เหมาะสม
เป็นที่ทราบกันดีว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นโรงเรียนแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 จวบจนถึงปัจจุบัน รูปฤๅษีดัดตน หรือ ตำราการแพทย์ที่จารึกรายรอบระเบียงรายในวัดโพธิ์ ในวันนี้กฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยแบ่งเป็นรายการชุดความรู้ในศิลาจารึกของวัดโพธิ์ ซึ่งประกอบด้วย แผนชุดความรู้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย จำนวน 380 รายการ (จากศิลาจารึกความรู้แขนงต่างๆ จำนวน 1,440 แผ่น) ซึ่งเป็นความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยจะเป็นเรื่องของตำรายา ตำราการนวดไทย เป็นต้น รวมตำรับยา ตำราการแพทย์แผนไทยจำนวน 1,061 รายการ ที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยแผนต่างต่างๆ เช่น แผนแม่ซื้อว่าด้วยเรื่องแม่และเด็ก แผนฝี ว่าด้วยโรคฝีต่างๆ แผนนวด ว่าด้วยเรื่องแนวเส้นและจุดต่างๆ บนร่างกาย และตำรายาที่สำคัญๆ เช่น กลุ่มรักษาโรคมะเร็งโรคเรื้อน โรคฝี ธาตุพิการ เป็นต้น ที่ได้มีการประกาศคุ้มครองในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว
ทั้งนี้จารึกตำราการแพทย์แผนไทยวัดโพธิ์ เป็นวิชาการแพทย์แผนไทยที่เป็นความรู้สืบทอดมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งสมัยอยุธยาในยามที่บ้านเมืองมีสงคราม ทำให้ตำรับตำราด้านการแพทย์สูญหายกระจัดกระจาย ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสนพระทัยและโปรดให้มีการเก็บรวบรวมและฟื้นฟูวิชาการแพทย์แผนไทย สืบต่อ จนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าให้รวบรวมตำรับยาจารึกลงบนศิลา และปั้นรูปฤๅษีดัดตนประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ และในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ค้นคว้ารวบรวมข้อมูล และคัดสรรตำราแล้วให้จารึกลงบนแผ่นศิลาประดิษฐานไว้ตามเสนาสนะภายในวัดโพธิ์ ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้มีการจารึกบนแผ่นศิลาประดับไปทั่วพระอารามมีจำนวนมากนับพันแผ่น
นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ
นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การมีกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา จะทำให้ประเทศไทยสามารถปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมบัติไว้ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพและเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง ส่วนผู้ที่ต้องการนำตำรายาไปผลิตนั้นจะต้องมีการขออนุญาตจากกรมการแพทย์แผนไทยฯก่อน ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานดูแลในด้านต่างๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ซึ่งหากมีผู้กระทำผิดทางคณะกรรมการจะดำเนินการทางกฎหมายทันทีซึ่งจะเป็นวิธีที่ปกป้องและคุ้มครองตำรับ ตำรายาแพทย์แผนไทยได้อีกทางหนึ่ง
“เมื่อมีการกล่าวถึงการเปิด AEC แล้ว การทำงานของประเทศไทยในเรื่องของการแพทย์แผนไทย จะเน้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 10 ประเทศในอาเซียน เพราะในแต่ละประเทศจะมีภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราจะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”
นพ.สุริยะ กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องส่งเสริม คือ เรื่องของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเสริมที่ต่อยอดมากจากภูมิปัญญาตำรับตำรายาแผนแพทย์ไทย โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และต้องเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทยในการพิจารณาอนุมัติการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ด้วย
ส่วนปัญหาความล่าช้าเรื่องของการจัดระเบียบตำรับตำรายาแพทย์แผนไทยนั้น พบว่า เกิดจากความละเอียดอ่อนของตำรับตำยาแผนแพทย์ไทย ที่ต้องใช้ระยะเวลาศึกษา ที่ผ่านมาเราสามารถจัดระเบียบตำรับ ตำรายาแพทย์แผนไทยได้ไปมากถึงร้อยละ 50
ภก.ปรีดา ตั้งตรงจิต
ด้าน ภก.ปรีดา ตั้งตรงจิต ผู้อำนวยการโรงเรียนนวดแผนโบราณ วัดโพธิ์ กล่าวว่า ในแต่ละปี ร.ร.นวดแผนโบราณ วัดโพธิ์ สามารถผลิตหมอนวดแผนโบราณได้ปีละพันกว่าคน ในและจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ ร้อยละ 30 จาก 135 ประเทศ ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นแบบวิธีองค์รวมที่สอนให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเองในชีวิตประจำวัน
“การที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาเรียน เราไม่ควรหวง หรือปิดโอกาสไม่ให้ต่างชาติเรียนได้ เนื่องจากมองว่า ต่างชาติสนใจมาเรียนเป็นเรื่องที่ดี เท่ากับเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ออกไป ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก อย่าไปกลัวเรื่องว่า ต่างชาติจะแอบไปจดลิขสิทธิ์ว่าเป็นของประเทศเขา ที่นี่เราสอนให้ผู้เรียนมีคุณธรรม อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อีกทั้งเรายังมีกฎหมายคุ้มครองแล้ว คงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง”
ปัจจุบันองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2554
ส่วนผู้ที่ต้องการนำตำรับยาที่มีกฎหมายคุ้มครองไปใช้ประโยชน์ได้นั้น สามารถติดต่อได้ที่กองคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและพื้นบ้านไทย อาคาร 3 ชั้น 7 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2591-7007
- 11199 views