กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เผยข้อเท็จจริง รพ.แออัด เหตุผู้ป่วยเพิ่ม ทั้งจากโรคไม่ติดต่อ และสังคมผู้สูงอายุ ชี้ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นเพียงระบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงเท่านั้น แนะทางออก ดึง รพ.เอกชน มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทั้งผลิตบุคลากรและดูแลผู้ป่วยในระบบ เดินหน้า รพ.ออกนอกระบบ พร้อมเปิด อปท.มีส่วนร่วมระบบบริการสาธารณสุขมากขึ้น ชี้ รมว.สธ.คนเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องกำหนดเป็นนโยบายรัฐ อาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรีเพื่อผลักดัน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) แออัด ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหาร รพ.ส่วนใหญ่ระบุว่าสาเหตุเกิดจากการเข้าถึงบริการจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและรับบริการใน รพ.เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงแค่สาเหตุหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุหลัก และไม่ควรมองไปที่ระบบบัตรทองเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดความแออัด เพราะแม้ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอัตราการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะที่เจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าไทยได้เป็นสังคมสูงวัยในระยะแรกเรียกร้อยแล้ว และพยากรณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยเต็มที่ นั่นคือประชากรมากกว่าร้อยละ 20 จะเป็นคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดจะเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากอัตราการเกิดของประเทศไทยต่ำ ทำให้มีวัยเด็ก วัยทำงานตอนต้นลดลง
“ปัญหานี้เห็นชัดเจนในกลุ่มข้าราชการ เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้ารับบริการยัง รพ.ระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้เลย ซึ่งนอกจากไม่จำกัดทั้งเพดานค่ารักษาแล้ว ยังเรียกร้องการบริการที่มากกว่าประชาชนซึ่งอยุ่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน” แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า นอกจากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความเจ็บป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่มากเกินไปเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงพบผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ที่มีอายุต่ำลงเรื่อยๆ แม้แต่ในกลุ่มวัยแรงงานที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเพียงระบบที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยเหล่านี้
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากในส่วนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ในส่วนผู้ให้บริการเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะด้วยบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับบริการ ส่งผลให้เกิดปัญหารอคิว ปัญหาแออัดในการเข้ารับบริการ ซึ่งหากมองถึงสาเหตุขาดแคลนบุคลากรในระบบ เนื่องจากมีการดึงดูดบุคลากรจากภาคเอกชนที่มากเพราะใช้อำนาจเงินเป็นตัวกำหนด ซึ่งที่มีรายได้จากกลุ่มประชากรจ่ายค่ารักษาเองได้ โดยประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้นั่นเอง
ทั้งนี้ทางออกปัญหาโรงพยาบาลแออัดนั้น แม้ว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะมีการเพิ่มเติมงบประมาณในระบบ ไม่ว่าจะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลงทุนเพื่อผลิตบุคลากรเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพออย่างที่ผู้บริหารโรงพยาบาลหลายแห่งได้สะท้อนปัญหา ทั้งโรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลราชบุรี ที่แม้ส่วนหนึ่งจะมีงบสร้างอาคารและห้องผ่าตัดเพิ่มเติม แต่ก็ตัดปัญหาขาดบุคลากร ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้มี 2 ทาง คือ การลงทุนผลิตบุคลากรและพัฒนาระบบ เพื่อรองรับเพิ่มขึ้น และการส่งกระจายความแออัดออกไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งในแนวทางหลังนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไมสามารถต่อรองราคาที่เหมาะสมในการคิดค่ารักษากับโรงพยาบาลเอกชนได้ โดยภาคเอกชนยังคงเรียกเก็บในอัตราที่แพงมากจนไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากรัฐบาลปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นระบบค้าเสรี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถอุดรอยรั่วบุคลากรที่ไหลไปภาคเอกชนได้ ทั้งจากนโยบายจำกัดจำนวนข้าราชการเพื่อไม่ให้เป็นภาระภาครัฐในระยะยาว ดังนั้นทางออกในปัจจุบันที่มีการลงทุนทำโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากแล้วนั้น คือให้ภาคเอกชนเหล่านี้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นค่าผลิตบุคคลากรที่ภาครัฐผลิตขึ้น
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนภาครัฐเองต้องเปิดให้โรงพยาบาลออกนอกระบบราชการ แต่รัฐยังคอยกำกับและสนับสนุนงบตามความเหมาะสม โดยที่โรงพยาบาลสามารถระดมความร่วมมือ การลงทุนจากประชาชนแบบไม่แสวงกำไรได้ ทั้งยังแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการ เพราะบุคลากรในระบบนี้จะไม่มีการบรรจุข้าราชการ แต่สามารถทำงานได้โดยได้รับค่าตอบแทนสูงเทียบเท่าเอกชน โดยที่รัฐจะมีระบบสวัสดิการอื่นเพื่อรองรับแทน เช่น ระบบบำนาญแห่งชาติ ให้ทุกคนทั้งที่เป็นข้าราชการหรือไม่ใช่ นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาดำเนินการให้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับปฐมภูมิเพื่อเป็นด่านแรกที่ส่งเสริมสุขภาพ และให้บริการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อลดการไปแออัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีนโยบายชัดเจน ทั้งในเรื่องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบผลิตบุคลากร การเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบ การกระจายอำนาจให้ อปท.มีส่วนร่วมระบบบริการมากขึ้น ทั้งการสร้างโรงพยาบาลเอง การสนับสนุนผลิตบุคลากร และพัฒนาระบบปฐมภูมิโดยองค์กรท้องถิ่น และที่สำคัญต้องรณรงค์ให้บุคลากรกล้าที่จะไปทำงานกับ อปท. ไม่ยึดติดอยู่ภายใต้ระบบราชการ แต่ได้รับเงินเดือนสูงขึ้นเท่าเทียมภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็รับประกันสวัสดิการยามชราภาพ โดยนโยบายเหล่านี้ แต่ต้องกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล ดำเนินการโดยคณะรัฐมนตรี แล้วให้ รมว.สาธารณสุขปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าทางออกระบบสุขภาพประเทศต้องการกระทรวงอื่นๆ และวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรีมาดำเนินการมากกว่า ซึ่งไม่สามารถทำได้โดย รมว.สาธารณสุขเพียงคนเดียว.
- 12 views