รมว.สธ.กำชับ สสจ.ทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการบริโภคเห็ดป่า อาจเป็นเห็ดพิษได้ หากไม่รู้จัก ไม่ควรเก็บมากิน ข้อมูลในปีนี้จนถึงต้นเดือนสิงหาคม มีผู้ป่วยกินเห็ดพิษ 732 ราย เสียชีวิต 5 ราย ย้ำยังไม่มีการพิสูจน์พิษเห็ดให้ผลแน่นอน ด้านศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี พบว่าผู้ป่วยกินเห็ดพิษในระยะหลังตับวายบ่อยขึ้น
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเห็ดป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดที่มีพิษและเห็ดที่ไม่มีพิษ ลักษณะของเห็ดอาจใกล้เคียงกัน จึงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและนำไปบริโภค โดยพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ทั่วประเทศ มากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และแจ้งเตือนประชาชนในการสังเกตลักษณะเห็ดพิษ การสังเกตอาการหลังบริโภคเห็ดป่า รวมทั้งความรู้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลอาการเบื้องต้น และส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม
ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนมานี้ มีผู้ปรึกษาปัญหาผู้ป่วยกินเห็ดพิษ และมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น อาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษ มักเริ่มจากอาเจียน ท้องเสีย จากนั้นจะมีอาการตามชนิดของพิษเห็ด เช่น อาการคล้ายคนเมาเหล้า ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย ชัก หมดสติ บางรายตับวาย ไตวาย ขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิต มีข้อสังเกตว่าระยะหลัง พบผู้ป่วยมีอาการตับวายเสียชีวิตจากเห็ดพิษบ่อยขึ้น มักมีอาการหลังจากกินเห็ดเข้าไปแล้วเกิน 6 ชั่วโมง และเริ่มมีอาการตับวายรุนแรงหลังกินเห็ดไปแล้ว 2-3วัน การให้ยาต้านพิษจึงไม่ทัน หากแพทย์ผู้รักษาสงสัย สามารถปรึกษาศูนย์พิษวิทยา ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1367
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม-7 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 732 ราย ใน 43 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ ผู้ใหญ่อายุ 35-65 ปี พบร้อยละ 59 ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ร้อยละ 61 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดต่อประชากรทุก 1แสนคน 5อันดับแรกคือ ยโสธร อุบลราชธานี เลย จันทบุรี และเชียงราย เนื่องจากช่วงหน้าฝน ในพื้นที่จะมีเห็ดป่าเกิดขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดมาบริโภคเองหรือนำไปขายต่อ บางครั้งเห็ดพิษกับเห็ดที่ไม่มีพิษอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจแยกลักษณะกันได้ยาก
ทั้งนี้ เห็ดพิษในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดไข่ตายซาก เห็ดเมือกไครเหลือง เห็ดหมวกจีน เห็ดสมองวัว เห็ดเกล็ดดาว เห็ดแดงน้ำหมาก เป็นต้น จึงขอแนะนำให้เลือกกินเห็ดที่รู้จักเท่านั้น หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร เนื่องจากยังไม่มีวิธีพิสูจน์ความเป็นพิษของเห็ดที่ได้ผลแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช้อนเงินจุ่มทดสอบ การต้มในน้ำซาวข้าวดูสีที่เปลี่ยน และเห็ดพิษบางชนิดมีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกดีแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
“ขอย้ำเตือนประชาชนว่า หากไม่รู้จักเห็ด ห้ามนำมาปรุงอาหารกินเด็ดขาด ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษของเห็ดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่กินเห็ดพิษเข้าไป หากผู้ป่วยยังไม่หมดสติ อาจใช้วิธีการล้วงคอเพื่อให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำเห็ดมาให้ตรวจสอบด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.โสภณกล่าว
- 34 views