เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : เครือข่ายผู้บริโภคขอมีส่วนร่วมพิจารณากฎหมาย ห่วงตกเป็นเหยื่อเสียหายทางการค้า เหตุรัฐบาลต้องการยอมรับจากต่างประเทศ จนยอมรับข้อตกลงที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ยกหลังรัฐประหาร 2534 ยอมแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร จนทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศ หวั่นรัฐบาล คสช.จะเร่งลงนาม TPP โดยละเลยผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลทางยา
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เปิดเผยว่า เป็นห่วงการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่าจะมีการชักชวนเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ทั้งที่ไทยไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเอกรอบอื่นๆ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนสามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ทั้งด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค
“นักลงทุนสหรัฐฯ ทราบดีว่า รัฐบาลจากรัฐประหารมักต้องการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ จึงอาศัยโอกาสนี้เสนอ ขู่ และปลอบมาตลอด หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 เราจึงยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรยอมรับสิทธิบัตรยา ก่อนจะมีความตกลงในองค์การการค้าโลกถึง 8 ปี ซึ่งทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศอย่างราบคาบ และในปี 2551 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ยอมรับในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) ทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายของญี่ปุ่นในการทิ้งขยะอันตราย ซึ่งน่ากังวลว่ารัฐบาลชุดนี้จะเร่งลงนาม TPP โดยที่ไม่รับฟังเสียงประชาชน” ประธานองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว
ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา จากการร่วมเจรจาความตกลง TPP จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้นอีกกว่าปีละกว่า 8.1 ล้านบาท และการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มอีก 5 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็นปีละ 2.78 หมื่นล้านบาท
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่า เป็นห่วงว่ารัฐบาลไทยจะเร่งพิจารณาการเจรจา TPP เนื่องจากมีสัญญาณจากการผลักดันร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งพิจารณา เนื่องจากจะให้ประโยชน์กับบริษัทเมล็ดพันธุ์สหรัฐข้ามชาติ โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หากมีเหตุที่เกิดความเสียหายอย่างการแพร่ของพืชจีเอ็มโอในธรรมชาติ ซึ่งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็เพิ่งเข้าพบนายกรัฐมนตรีอวันศุกร์ที่ผ่านมา
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความพยายามแก้กฎหมายหลายอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับต่างประเทศ เช่น มาตรา 193 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้รัฐบาลสามารถเจรจากับต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา เหลือแค่ผ่านกรรมาธิการต่างประเทศ โดยไม่ต้องรับฟังเสียงประชาชน
“รัฐบาลอาจเข้าใจว่าต่างประเทศหวังดี ต้องการมาผูกมิตรกับประเทศไทยมากขึ้น แต่อยากให้เข้าใจว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง และตั้งใจจะประสงค์ร้าย” น.ส.กรรณิการ์กล่าว
ที่มา : www.posttoday.com
- 4 views