ทันตแพทยสมาคมฯ แนะ สปส.ขยายสิทธิ “ทันตกรรม” เพิ่มการครอบคลุมในหลายหัตถการการรักษาทันตกรรม หลังจำกัดเพียงแค่ ถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินน้ำลาย แม้จะมีการอนุญาตให้ครอบคลุมการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้แต่กลับกำหนดเพดานเบิกจ่ายครั้งละ 300 บาท ไม่เกิน 600 บาทต่อปี และฟันเทียมตั้งแต่ 1,300-4,400 บาท ทุก 5 ปี ชี้เป็นระบบรักษาพยาบาลสิทธิทันตกรรมต่ำสุด ซ้ำผู้ประกันตนต้องถูกบังคับร่วมจ่ายโดยหักจากเงินเดือนทุกเดือนและนายจ้างจ่ายสมบท ขณะที่ “บัตรทอง - ขรก.” สิทธิทันตกรรมรักษาครอบคลุมเกือบทั้งหมด
ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายก(สำรอง)ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลว่า ปัจจุบันกองทุนรักษาพยาบาลมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมแล้ว แต่การครอบคลุมไม่เท่ากัน และไม่มากเท่าที่ควรในบางกองทุน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง 3 กองทุนรักษาพยาบาลหลักที่มีอยู่ในประเทศ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ พบว่า กองทุนประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมด้านทันตกรรมน้อยมาก จำกัดเพียงแค่การถอนฟัน อุดฟัน การขูดหินน้ำลาย และใส่ฟันเทียมถอดได้ให้กับผู้ประกันตนเท่านั้น ทั้งมีเพดานเบิกจ่ายเพียงแค่ 600 บาทต่อปี โดยกำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายจากการทำหัตถการ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 300 บาท ถือว่าน้อยมากและยุ่งยาก ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการทำหัตถกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ยกเว้นการรักษาคลองรากฟัน ไปจนถึงการใส่ฟันเทียมซึ่งถือว่าดีกว่า
ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการสิทธิประโยชน์ครอบคลุมหัตถการทันตกรรมทั้งหมด รวมไปถึงการรักษาคลองรากฟันด้วย โดยข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม เพียงแต่ข้อจำกัดคือต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งบางแห่งมีคิวหนาแน่น เพราะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยบัตรทองและข้าราชการ ทำให้ข้าราชการบางส่วนยอมจ่ายเงินในบางหัตถการเพื่อรักษาในสถานพยาบาลเอกชนแทน แต่ภาพรวมถือว่าดีกว่าระบบอื่นๆ เพราะนอกจากครอบคลุมหัตถการทันตกรรมทั้งหมดแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถเลือกเข้ารักษายังโรงพยาบาลรัฐใดก็ได้ ต่างจากสิทธิบัตรทองที่จำกัดเฉพาะหน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนของสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ บัตรทองทราบว่าขณะนี้มี 1-2 จังหวัดที่นำร่องทำสัญญากับคลินิกทันตกรรมเอกชน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น
“ใน 3 กองทุนรักษาพยาบาลนี้ ประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์ทันตกรรมต่ำที่สุด และดูเหมือนว่าผู้ประกันตนจะถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด เพราะนอกจากได้รับสิทธิการทำฟันที่น้อยมากแล้ว ยังเป็นกลุ่มเดียวที่ร่วมจ่าย ขณะที่ข้าราชการและบัตรทองนั้นไม่ต้องจ่าย ดังนั้นหากจัดลำดับสิทธิประโยชน์ทันตกรรมแล้ว สวัสดิการข้าราชการจึงเป็นระบบได้รับสิทธิครอบคลุมมากที่สุด รองลงมาคือสิทธิบัตรทอง และประกันชีวิตเอกชนที่พ่วงประกันสุขภาพและทันตรกรรม และสุดท้ายคือสิทธิประกันสังคมที่แทบจะไม่ครอบคลุมทันตกรรมให้กับผู้ประกันตนเลยทั้งที่บังคับคนทำงานต้องถูกหักเงินเข้าจ่าย สปส เท่ากับบังคับให้ซื้อประกัน” นายก(สำรอง)ทันตแพทยสมาคมฯ กล่าว
ทพ.ดิเรก กล่าวว่า มองว่าระบบประกันสังคมควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์ครอบคลุมหัตถการด้านทันตกรรมให้กว้างขึ้นและปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายให้สูงขึ้น เพราะปัจจุบันที่กำหนดเพียงแค่ 600 บาท แทบจะไม่ได้อะไรเลย และพูดถึงประเด็นปรับเพิ่มเมื่อไหร่ก็มักจะถูกอ้างถึงเรื่องความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมที่ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ส่วนตัวมองว่า การที่สปส.ระบุเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธการให้ความคุ้มค่าการดูแลผู้ประกันตนที่คุ้มค่าแก่ผู้ถูกบังคับจ่ายค่าประกัน เพราะระบบประกันสังคมเป็นระบบประกันภาคบังคับ จึงต้องให้การดูแลที่ดีและครอบคลุม ไม่ใช่ให้การให้สิทธิที่ไม่ครอบคลุมโดยที่ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินรักษาดูแลตนเอง
ต่อข้อซักถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ เพราะผู้มีสิทธิในระบบประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานและเป็นคนรุ่นใหม่ที่ดูแลสุขภาพฟันดี ทำให้ไม่มีปัญหา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงไม่เน้นสิทธิประโยชน์ทันตกรรมให้กับผู้ประกันตน ทพ.อดิเรก กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกันและในทางตรงกันข้ามจากตัวเลขการเบิกจ่ายในระบบประกันสังคมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีการขอเบิกจ่ายทันตกรรมเพียงแค่ 1 ล้านฉบับ จากผู้ประกันตนที่มีจำนวนถึงกว่า 10 ล้านคน จึงถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น สปส.จึงควรมีการขยายสิทธิประโยชน์ทันตกรรมให้ครอบคลุมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนแทน ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้มีการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในระบบประกันสังคมน้อย มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินเบิกจ่ายที่น้อยเพียงครั้งละ 300 บาท ทำให้ไม่คุ้มค่าที่ผู้ประกันตนจะเดินทางไปทำเรื่องเบิกจ่ายนี้
“ไทยเป็นหนึ่งใประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ให้สิทธิประโยชน์การบริการทันตกรรมที่ครอบคลุมสูงมาก เกือบทุกประเภทในการรักษาถือเป็นความโชคดี และต้องมีระบบที่จะส่งเสริมให้ประชาชนสนใจดูแลสุขภาพฟันของตนเอง เพราะค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพคือเงินภาษี ซึ่งมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตหากเงินงบประมาณในส่วนนี้ไม่เพียงพอ ก็คงหนีไม่พ้นการเพิ่มภาษีตัวใดตัวหนึ่ง ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฟันของตนเองจึงเป็นเรื่องที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ในระบบประกันสังคมยังต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการคุ้มครองด้านทันตกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งควรให้มีการครอบคลุมการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ใช่รอเป็นโรคแล้วจึงจ่ายค่ารักษา ซึ่งจะยิ่งทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มมากขึ้น และ ทำให้กองทุนประกันสังคมไม่ยั่งยืน” นายก(สำรอง)ทันตแพทยสมาคมฯ กล่าว
- 77 views