“ประธาน สพศท.” เตือน อย่าทำวิจัยสุขภาพแค่ “Junk Science” เอื้อประโยชน์ต่อนโยบายตั้งธง เหตุไม่เป็นประโยชน์ แถมทำลายระบบ ชี้ประเด็นงานวิจัย TDRI ควรนำไปสู่การร่วมมือแก้ไขปัญหามากกว่าหยิบยกมาถกเถียง
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัยในระบบสุขภาพว่า ในการทำวิจัยระบบสุขภาพที่ผ่านมาพบว่า มักจะมีการทำวิจัยที่เป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อเดินหน้านโยบายหรือในสิ่งที่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า ซึ่งส่วนตัวมองว่าการวิจัยดังกล่าวนี้ไม่ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาในระบบสาธารณสุขอย่างแท้จริง และผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้ ในกระบวนการศึกษาวิจัย ทั้งการตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล การแปลผล การวิเคราะห์ และการสรุปความเห็นจะต้องทำตามหลักวิชาการ โดยปราศจากอคติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น หรือผลประโยชน์แอบแฝง จึงจะได้ข้อมูลที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า กรณีงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ผู้วิจัยระบุว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยพบว่า ค่าใช้จ่ายรายหัวของข้าราชการสูงกว่าบัตรทองนั้น มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการรวม 3 กองทุนด้านสุขภาพหรือไม่ ทั้งกองทุนรักษาพยาบาลระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นการสนองแนวคิดและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขและสังคมอย่างรอบคอบและรอบด้าน
นอกจากนี้คำถามสำคัญๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำมีคำจำกัดความว่าอะไร ? ไม่เท่ากันคือความเหลื่อมล้ำใช่หรือ ? ความไม่เท่ากันที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพเกิดจากเหตุจากปัจจัยใด มีความสมเหตุสมผลแค่ไหน และมีที่มาอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องตอบก่อนที่จะด่วนสรุปอย่างฉาบฉวย
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พบว่าผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ แต่กลับไม่มีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่มีความพยายามหาเหตุปัญหาเพื่อแก้ไข ทั้งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและระบบสาธารณสุข
“ผมเป็นห่วงคนนอกวงการมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ที่อาจส่งผลต่อระบบและนโยบายสุขภาพ เพราะคนในวงการวิชาการสาธารณสุขถูกสอนให้อ่านงานวิจัยเป็น รู้ว่างานชิ้นใดน่าเชื่อถือแค่ไหน มีคุณค่ามากแค่ไหน ทั้งนี้การทำศึกษาวิจัย ไม่ควรเป็นการทำวิจัยเพื่อเอื้อประโยชน์ในสิ่งที่มีการตั้งธงไว้ เพราะหากเป็นแบบนั้น ในทางวิชาการเราเรียกว่า เป็นงานวิจัยขยะ หรือ “Junk Science” ที่เหมือนกับอาหารขยะที่เราเรียกว่า Junk Food ที่มีคุณค่าน้อย สารอาหารต่ำ แต่อาศัยการโฆษณาให้ชวนเชื่อ เหมือนกับงานวิจัยที่นำบางส่วนมาอ้างเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายจะเป็นการทำลายระบบ ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นในระบบสุขภาพ” ประธาน สพศท. กล่าว และว่า ในงานวิจัยที่มีคุณค่า ผู้ศึกษาวิจัยควรตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ มากกว่าการตั้งธงแล้วทำวิจัยเพื่อตอบสนอง หรือเป็นเพียงการเสนอเพื่อชงนโยบายให้คนอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
- 12 views