นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : “จรัส” กมธ.ยกร่าง รธน. ยืนยันหลักการเดิมจะไม่มีการให้ Earmarked Tax หรือ ภาษีบาปแก่องค์กรอื่นๆ แล้ว พร้อมเผย ทางเลือกสำหรับ สสส. ไทยพีบีเอส กองทุนกีฬา ให้รับภาษีบาปเช่นเดิม แต่การใช้งบประมาณต้องมาขอความเห็นชอบจาก สส. สว.ที่เป็นตัวแทนประชาชน
นายจรัส สุวรรณมาลา
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : นายจรัส สุวรรณมาลา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบการยกร่างเกี่ยวกับการคลังและการงบประมาณของรัฐ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า กมธ.ยกร่างฯบางส่วนยอมให้ 3 องค์กร คือ ไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถใช้ภาษีบาป โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามเดิม ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพิจารณาและคาดว่าจะนำมาทบทวนหารือในวันที่ 10-11 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ยืนยันในหลักการเดิมว่าการยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะหรือที่เรียกว่า ภาษีบาป (Earmarked Tax) ให้แก่องค์กรอื่นๆ จะไม่มีแล้ว ซึ่งเราจะมาดูว่าองค์กรทั้ง 3 แห่งที่ตั้งมาก่อนหน้านี้จะพิจารณาอย่างไรต่อไป
แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ แจ้งว่า ล่าสุด กมธ.ยกร่างฯ มี 3 แนวทางการพิจารณาคือ แนวคิดที่ 1.ยกเลิกไม่ให้ทั้ง 3 องค์กรใช้ภาษีบาป แต่จะใช้วิธีให้มาของบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แต่ก็จะทำให้เกิดข้อเสียคือจากเดิมที่บริษัทเหล้า บุหรี่ ต้องเสียให้ สสส. 2% ไทยพีบีเอส 1.5% กองทุนพัฒนากีฬา 2 % โดยแยกออกมาจากที่ต้องเสียให้คลัง 100% ต่อไปก็จะไม่ต้องเสียให้กับทั้ง 3 องค์กร
ส่วนแนวคิดที่ 2 คือให้รับภาษีบาปเช่นเดิม แต่การใช้งบประมาณให้มาขอความเห็นชอบจาก ส.ส. ส.ว. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งข้อดีคือเป็นการเพิ่มการตรวจสอบ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกต้อง และแนวคิดที่ 3 คือ ปล่อยให้เป็นแบบเดิม โดยอ้างว่าจะได้ไม่ถูกนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งภาษีสุรา บุหรี่ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีบาปให้ 3 องค์กรนี้น้อยลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 เพราะจะสามารถมีการตรวจสอบงบประมาณได้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของสำนักงบประมาณ ครม. ส.ส. กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ส.ว.และสื่อมวลชน
ส่วนรูปแบบเดิมมีเพียงแค่หน่วยงานเดียวที่ตรวจสอบการใช้เงินคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่การใช้งบประมาณก็อนุญาตให้ 3 องค์กรใช้เงินไปก่อน แล้วค่อยมารายงาน ส.ส. ส.ว ภายหลัง ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ขัดกับวินัยการเงิน การคลัง ของประเทศ อีกทั้งยังป้องกันองค์กรอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ให้มาใช้รูปแบบเดียวกับทั้ง 3 องค์กรด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 สิงหาคม 2558
- 15 views