นสพ.ไทยโพสต์ : "หมอหทัย" แฉบริษัทบุหรี่ข้ามชาติล็อบบี้แก้ รธน.เลิกภาษีบาป วอน "บิ๊กตู่" ทบทวนอย่าสร้างความทุกข์ให้คนไทย กมธ.ยกร่างฯ นัดถก 11 ส.ค. แย้มไม่แตะสสส.-ไทยพีบีเอส ชง กก.ประเมินผลแห่งชาติตรวจสอบใช้งบ ทีดีอาร์ไอแนะคุมเฉพาะองค์กรเกิดใหม่

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ภาษีบาป ผลกระทบ สสส.-ไทยพีบีเอส ?" โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากนำภาษีบาปที่หักให้กับ 2 องค์กร คือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จำนวน 2 พันล้าน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 4 พันล้าน รวมกัน 6 พันล้าน คิดเป็น 0.24% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งยังไม่สร้างปัญหาให้กับวินัยการคลัง

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความเหมาะสมของการก่อตั้งกองทุนที่จะใช้ภาษีบาปในอนาคต แต่หากยกเลิกการจัดเก็บภาษีเฉพาะ (earmarked tax) นี้ จะทำให้ผลประโยชน์ไปตกที่บริษัทสุราและบุหรี่ หาก สสส.ต้องไปของบจากรัฐบาลหรือสภาฯ แล้วมีกลุ่มเหล้าและบุหรี่ไปล็อบบี้รัฐบาลและสภาฯ จะเกิดอะไรขึ้น หรืออย่างกรณีไทยพีบีเอสต่อไปต้องขอเงินจากสภาฯ แล้วสภาฯ ไม่ให้ ความเป็นอิสระของไทยพีบีเอสจะสิ้นสุดลงในทันที

"ขอเสนอทางออกด้วยการเพิ่มข้อจำกัดในการใช้จ่ายเงินว่า ต้องเป็นองค์กรอิสระโดยแท้จริง กรณีจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระห้ามมิให้เป็นหน่วยงานของราชการ จัดตั้งหน่วยงานให้ใช้เกินกว่ากึ่งหนึ่งหรือสามในห้าของรัฐสภา เพื่อสร้างการประกันว่าการเกิดองค์กรลักษณะนี้ต้องทำได้ยาก จะเกิดได้ก็ต้องจากความต้องการของสังคมว่าต้องการให้เกิดขึ้นจริงๆ จำกัดเพดานในการใช้เงินและเพดานรายได้ตามเงินเฟ้อ และสุดท้ายระบบการตรวจสอบและประเมินผลที่สูงพอ ขณะที่หน่วยงานเดิมขอให้คงไว้ เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นความบกพร่อง ควรจะมีการจำกัดเฉพาะหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่เท่านั้น" นายสมเกียรติระบุ

นายจรัส สุวรรณมาลา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ระบุไว้ให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีต่างๆ แต่รัฐบาลไม่ยอมออก เพราะทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านประชานิยมยากขึ้น ออกมาแล้วเป็นกระพรวนผูกคอแมว จึงทำตัวเป็นแมวขโมยมาตลอด อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีปัญหากับ สสส.กับไทยพีบีเอส แต่มีปัญหากับแนวโน้มในการใช้ภาษีลักษณะนี้ในอนาคต หากใช้ในทางที่ผิดจะส่งผลให้การบริหารการเงินการคลังภาครัฐสั่นคลอน อย่างนักการเมืองนำภาษีบาปเป็นช่องทางใช้ในนโยบายของประชานิยมของตัวเอง

"ทั้ง สสส.และไทยพีบีเอสก็ทำงานดีอยู่แล้ว มีการบริหารที่มีธรรมาภิบาล คำถามคือว่า จะทำอย่างไรจะจัดการตรงนี้และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งภายใน 1-2 วันนี้ กมธ.จะต้องทบทวนให้ภาษีบาปผ่านระบบงบประมาณ แต่ยังไม่มีกลไกรองรับเพื่อไม่ให้การเมืองแทรกแซง ซึ่งจะพิจารณาว่าขนาดไหนถึงจะพอดี ควรจะห้ามภาษีบาปอย่างเด็ดขาดหรือไม่ หากจะเอาออกจากรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และไปอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แต่หากจะยืนตามหลักการเดิมโดยไม่ให้มีเลย อาจจะมีการใช้เวลา 3-4 ปี" นายจรัสกล่าว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ตั้งแต่มีการก่อตั้ง สสส. มา มีข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติว่า อัตราคนสูบบุหรี่หายไป 1.2 ล้านคน และยังเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มได้ รัฐบาลมีสถานะการคลังที่ดีขึ้น ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง ถือเป็นสถานการณ์ได้ประโยชน์ร่วมกัน สิ่งสำคัญ สสส.ต้องการงบประมาณที่เพียงพอและไม่ถูกแทรกแซงจากบริษัทสุราและบุหรี่ ส่วนเรื่องภาษีเฉพาะที่เขียนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า ห้ามมีการเก็บภาษีลักษณะนี้นั้นอันตรายเกินไป เพราะไม่ใช่มีเพียงสองหน่วยงานนี้เท่านั้น เพราะยังมีหน่วยงานอื่นๆ  เช่น กองทุนสุขภาพ, กองทุนสิ่งแวดล้อม และกองทุนน้ำ เป็นองค์กรที่มีลักษณะเดียวกันกับไทยพีบีเอส และ สสส. จึงควรทำเป็น พ.ร.บ.เฉพาะมากกว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสได้ให้สัดส่วนในการรายงานข่าวสาธารณะมากกว่าช่องอื่นๆ ซึ่งในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีการตั้งคำถามที่เป็นประเด็นสาธารณะได้ เช่น เรื่องข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากรัฐเข้ามาควบคุมได้ ต่อไปไทยพีบีเอสไม่อาจเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไปออกรายการได้ แต่ที่สามารถทำได้เพราะมีหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระ

วันเดียวกัน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เปิดเผยว่า การมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณภาษีบาป ถึงขั้นนำไปตราไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความผิดปกติที่สะท้อนว่ามีเบื้องหลังชัดเจน เป็นกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่จะจัดการกับหน่วยงานที่ทำงานรณรงค์ด้านบุหรี่ ด้วยการเริ่มจากเสนอให้ยกเลิกภาษีบาป เมื่อถูกเปิดเผยความจริงว่า การยกเลิกภาษีบาปเงินทุกบาททุกสตางค์จะกลับคืนสู่บริษัทเหล้าบุหรี่ ก็พยายามให้ข้อมูลบิดเบือนว่าองค์กรเหล่านี้ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีระบบตรวจสอบเข้มข้นเช่นเดียวกับระบบราชการ ซึ่งข้อเสนอที่จะให้หน่วยงานที่รับงบประมาณตรงจากภาษีบาปปรับไปใช้ระบบงบประมาณปกติ คือการถอยหลังเข้าคลอง ผิดหลักการการใช้ภาษีในวัตถุประสงค์เฉพาะที่ทั่วโลกกระทำ

"ผมขอพูดโดยใช้ศักดิ์ศรีของผมเป็นประกันว่า เรื่องนี้เกิดจากการล็อบบี้คน 3 คน คือ 1.คนที่ชอบแอบอ้างว่าเป็นบัญชาจากนายกฯ 2.คนที่พยายามชงเรื่องนี้ 3.คนที่ทำงานเรื่องยาสูบ ผมเชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่ท่านไม่รู้ว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมันเลวร้ายแค่ไหน บริษัทบุหรี่ข้ามชาติรายเดียวมีรายได้ถึง 80 พันล้านเหรียญต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งปีที่ประเทศไทยได้คือ 373.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขที่ตรวจสอบได้ในยุโรป บริษัทบุหรี่ใช้เงินล็อบบี้แต่ละปีถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ การล็อบบี้คือการติดสินบน แล้วในไทยตรวจสอบไม่ได้จะเป็นเงินเท่าไร" นพ.หทัยระบุ

ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การล็อบบี้เกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน หากองค์กรอย่าง สสส.ถูกตัดแขนตัดขา ไทยจะได้รับผลกระทบร้ายแรงในด้านสุขภาพจากสินค้าอันตรายทั้ง 2 ชนิดนี้ ดังนี้ 1.อัตราการสูบบุหรี่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้คนไทยจะเจ็บป่วยจาก 6 โรคร้ายแรง คือ โรคหัวใจหลอดเลือด, โรคเส้นเลือดสมอง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็งปอดและหลอดอาหาร, โรคติดเชื้อในเด็ก และวัณโรค ซึ่งรัฐบาลจะต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลหมดไปกับค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพ แทนที่จะได้นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ 2.จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มสุราจะเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด  ดังนั้น ขอความกรุณานายกรัฐมนตรี ช่วยพิจารณาทบทวนเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ภาษีบาป อย่าสร้างความสะเทือนใจ สร้างความทุกข์ให้กับคนไทย ด้วยการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีบาปเลย

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เรื่องของ สสส.และไทยพีบีเอสคาดว่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งคงจะปรับไม่ได้ต่างจากที่เคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ เพราะที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้ 2 องค์กรต้องของบประมาณโดยผ่านสภาฯ ก่อน อย่างไรก็ดีอาจจะมีการปรับแก้ในประเด็นการตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กรมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบคณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารของ 2 องค์กรนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ.

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 สิงหาคม 2558