กระทรวงสาธารณสุขพัฒนางานบริการด้านสุขภาพจิตในเมียนมาร์ หวังขยายบริการให้ครอบคลุมทั้งในเขตเมืองและชนบท รวมทั้งเพิ่มบริการจิตเวชเด็กการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก และการดูแลเด็กพิเศษ ให้โควตาพิเศษอบรมบุคลากร ในปี 2559 จะร่วมมือเร่งรัดพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขตามแนวชายแดนให้เมียนมาร์ 5 แห่ง
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมดุสิตไอร์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยพร้อมด้วย นพ.ธาน อุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ (H.E. Dr.Than Aung)ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือพัฒนางานสาธารณสุขระหว่าง ไทย-เมียนมาร์ พ.ศ. 2559–2561ตามกรอบบันทึกความร่วมมือที่ได้ลงนามก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ศ.2556
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ความร่วมมือที่จะดำเนินการในปี 2558-2559 มี 2 เรื่องคือ 1.งานบริการด้านสุขภาพจิตที่ทางเมียนมาร์ต้องการเพิ่มบริการให้ครอบคลุมเขตเมืองและชนบท รวมทั้งเพิ่มงานจิตเวชเด็ก คัดกรองพัฒนาการเด็ก การรักษาผู้ป่วยจิตเวช และงานสุขภาพจิตชุมชน โดยจะจัดอบรมแพทย์ พยาบาลจิตเวชเด็ก นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดและครู เป็นเครือข่ายดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งไทยเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตชุมชนของอาเซียน จะให้โควตาพิเศษแก่เมียนมาร์เริ่มอบรมในเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม2559 เพื่อให้ขยายบริการได้เร็วที่สุด 2.การฝึกอบรมบุคลากรด้านการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค เน้นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจเชื้อวัณโรคดื้อยา จะอบรมในเดือนพฤษภาคม 2559 โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก และกองทุนโลกเพื่อแก้ไชปัญหาเอดส์วัณโรคและมาลาเรีย
สำหรับการทำงานตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ.2559-2561 ที่จะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว คือการพัฒนาสถานบริการสาธารณสุข 5 แห่งตามแนวชายแดนในเขตเมียนมาร์แห่งแรกคือ รพ.พญาตองซูอยู่ตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี จะปรับปรุงโครงสร้างเพิ่มศักยภาพบริการรักษาพยาบาลฝึกอบรมบุคลากร และสนับสนุนยาเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น และสถานีอนามัยอีก 4 แห่งคือบ้านโอเคคีย์ จ.เมียวดีชายแดน อ.อุ้มผาง จ.ตาก บ้านยาลีอะ จ.เมียวดี ชายแดน อ.แม่ระมาด จ.ตาก บ้านแม่โจก จ.ยองข่า และบ้านปลาคาว จ.ท่าขี้เหล็ก ชายแดน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยในระยะเร่งด่วนจะอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ วัคซีนป้องกันโรคพื้นฐาน โดยไทยและเมียนมาร์จะร่วมกันสำรวจ เพื่อวางแผนการจัดงบประมาณ และแผนการให้ความช่วยเหลือในเดือนสิงหาคม 2558 โดยจะใช้แหล่งเงินจากทั้ง 2 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอาทิไจก้าองค์การสหประชาชาติ
นอกจากนี้ ยังได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันเชื้ออีโบลาและเมอร์สของเมียนมาร์ ซึ่งในเบื้องต้นนี้รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย และเชียงใหม่ ส่วนกรอบความร่วมมือด้านอื่นๆ อาทิ การควบคุมเฝ้าระวังโรคคุณภาพอาหาร และยา ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง การส่งเสริมสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพในแรงงานอพยพ ก็จะดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งการฝึกอบรมบุคลากร ศึกษาวิจัยเรื่องการแพทย์พื้นบ้าน ระบบบริการแรงงานต่างชาติ และประชาชนตามแนวชายแดนจะจัดทำรายละเอียดร่วมกันต่อไป
- 14 views