“นพ.อัษฎา ผอ.รพ.ชลบุรี” ชี้ “บัตรทอง” ทำผู้ป่วยล้น รพ. เหตุเข้าถึงการรักษาได้ง่าย รพ.ชลบุรีมีผู้ป่วยนอกเพิ่มเท่าตัว 1,500 เป็น 3,000 ราย/วัน แถมบุคลากรระบบไม่เพียงพอ เฉพาะพยาบาลขาดแคลนเกือบครึ่ง ทำภาระงานหนัก กระทบบริการ เผยที่ผ่านมาแก้ปัญหาทั้งจัดระบบคิว, เปิด OPD นอก รพ. แถมส่งผู้ป่วยกลับ รพช. แต่ผู้ป่วยไม่ลด ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มจาก AEC แนะทางออกต้องทบทวนระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศ ใช้ข้อมูลวิเคราะห์สู่การปรับปรุงเพื่อระบบเดินหน้าได้ พร้อมยันไม่มีแนวคิดล้มบัตรทอง
นพ.อัษฎา ตียพันธ์
นพ.อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ชลบุรี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการใน รพ.ของรัฐ เป็นปัญหาที่มีมานานตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อยที่ดูแลตนเองได้หรือที่เคยซื้อยากินเอง เลือกที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแทน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น อย่างที่ รพ.ชลบุรี จากที่แต่เดิมมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเพียง 1,500 คนต่อวัน แต่หลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มสูงถึง 3,000 คนต่อวัน ซึ่งสถานการณ์นี้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เหมือนกันหมด ประกอบกับปัญหาด้านกำลังคนของบุคลากรรวมถึงการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับ ทำให้เกิดภาระงานของบุคลากรในระบบที่เพิ่มมากขึ้น
นพ.อัษฎา กล่าวว่า สถานการณ์ข้างต้นนี้จึงส่งผลต่อการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยมีมากแต่บุคลากรมีน้อย รวมถึงข้อจำกัดสถานที่รองรับ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอนาน 3-4 ชั่วโมงกว่าที่จะได้พบแพทย์ ที่ผ่านมา แม้ รพ.จะพยายามจัดระบบนัดผู้ป่วย การจัดคิวการรักษา การเปิดรักษาผู้ป่วยนอกนอก รพ. แต่ก็ยังไม่สามารถดีขึ้นได้ รวมไปถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการส่งตัวผู้ป่วยที่รับการรักษายัง รพศ.แล้ว กลับ รพช.เพื่อดูแลต่อ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะที่ รพช.ก็มีปัญหาแออัด ผู้ป่วยแน่น รพ.เช่นกัน ซึ่งปัญหานี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายและยังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีไม่ได้ดูแลแต่เฉพาะประชากรไทย แต่มีประชากรต่างด้าวที่เข้ารับบริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยและภาระงานที่นี่เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในปลายปีนี้หลังการเปิด AEC จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น
“สาเหตุสำคัญมาจากประชาชนเข้าถึงบริการเข้าถึงง่าย ทำให้ รพ. แน่ไปหมด แม้ว่าจะมีการขยายบริการก็ตาม ซึ่งทุกหน่วยบริการต่างอยากบริการประชาชนเต็มที่ แต่ด้วยข้อจำกัดโดยเฉพาะอัตรากำลังบุคลากรในระบบที่จำกัดและภาระงานที่ล้น ในอนาคตเชื่อว่านอกจากจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงแล้วยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” ผอ.รพ.ชลบุรี กล่าว
นพ.อัษฎา กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนบุคลากรใน รพ.ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาล ที่เป็นผลมาจากนโยบายการจำกัดอัตราข้าราชการของรัฐบาลในยุคหนึ่ง ส่งผลให้พยาบาลในระบบเป็นเพียงแค่ลูกจ้างชั่วคราว ทำให้พยาบาลที่จบใหม่และเข้าสู่ระบบ ส่วนหนึ่งเลือกที่จะลาออกไปเพราะความไม่มั่นคงในวิชาชีพจากการไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ เป็นผลให้เกิดปัญหาพยาบาลขาดแคลน ซึ่งที่ รพ.ชลบุรี ตามอัตราพยาบาลต่อการดูแลผู้ป่วย (FTE) จะต้องมีพยาบาลประมาณ 1,200-1,400 คน แต่ปัจจุบันมีเพียงกว่า 700 คน รวมพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวด้วย ทำให้เกิดปัญหา แม้ว่าที่ผ่านมา รพ.จะมีการวางแผนในการผลิต แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการดึงให้อยู่ในระบบด้วย จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งหน่วยบริการยินดีที่จะดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็ต้องดูแลบุคลากรในระบบด้วย
“ในส่วนของ รพ.ชลบุรี มีพยาบาลที่ยังรอการบรรจุอยู่ประมาณ 40-50 คน อยู่ระหว่างการรออนุมัติตำแหน่งบรรจุในรอบที่ 3 จากมติ ครม.ปี 2555 ซึ่งน่าจะได้รับบรรจุบางส่วน แต่ทั้งนี้มองว่าในการแก้ไขปัญหาพยาบาลไหลออกจากระบบคือพยาบาลจะต้องได้รับการบรรจุเช่นเดียวกับแพทย์เพื่อดึงให้อยู่ในระบบเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไหลออก โดยเฉพาะพยาบาลประจำห้องผ่าตัด ไอซียู งานอุบัติหตุ หรือที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการ” นพ.อัษฎา กล่าวและว่า แต่ในส่วนของแพทย์นั้นตอนนี้ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากปีหนึ่งมีแพทย์จบใหม่ไม่มากและก็ได้รับการบรรจุข้าราชการ ทำให้แพทย์ยังคงอยู่ในระบบได้ แต่พยาบาลเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอแนวคิดต่อ สธ.ว่า ในส่วนพยาบาลที่เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ควรให้อัตราเงินเดือนที่สูงกว่าพยาบาลข้าราชการ 20% เพื่อจูงใจให้อยู่ในระบบ แต่ทั้งนี้ก็อาจมีปัญหาใน รพ.ขนาดเล็กที่มีปัญหางบไม่พอ ซึ่งต้องหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่ม
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา สธ.มีการดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพ (Service Plan) สามารถช่วยลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.ได้หรือไม่ นพ.อัษฎา กล่าวว่า นโยบายเขตบริการสุขภาพ เป็นนโยบายที่ดีมาก เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเป็นการจัดรวมกลุ่มการบริการ 5-6 จังหวัด โดยดูแลประชากร 5-6 ล้านคน ซึ่ง สธ.ได้แบ่งออกเป็น 12 เขตสุขภาพ เพื่อเน้นบริการดูแลผู้ป่วย 12 สาขาหลัก ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการนอกเขต แต่นโยบายนี้ก็ไม่สามารถลดความแออัดได้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยรับบริการที่แน่นไปหมด อีกทั้งในส่วนผู้ป่วยนอกที่เป็นปัญหาแออัดมาก ส่วนใหญ่ก็ไม่มีการส่งข้ามจังหวัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระบบบริการที่แบ่งเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ น่าจะลดผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ นพ.อัษฎา กล่าวว่า ตามหลักการต้องเป็นเช่นนั้น คือผู้ป่วยโรคทั่วไป รักษาง่าย ควรได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และที่ รพช. แต่ข้อเท็จจริงคือขณะนี้ทุก รพ.แออัดไปหมด อย่างที่ จ.ชลบุรี รพช.ทุกแห่งผู้ป่วยแน่นมาก การส่งต่อหรือรับส่งกลับจึงเป็นเรื่องยาก ประกอบกับคนไทยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายแม้แต่การพบแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญใน รพ.ใหญ่ ต่างจากระบบในประเทศอังกฤษที่การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่จำกัด ผู้ป่วยต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์เบื้องต้นเพื่อเป็นผู้ส่งตรวจเท่านั้น
ส่วนทางออกของปัญหาระบบบริการรักษาพยาบาลนั้น นพ.อัษฎา กล่าวว่า ต้องทบทวนระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่าดีอย่างไร และมีส่วนใดต้องปรับปรุง ซึ่งต้องวิเคราะห์แยกแยะบนพื้นฐานข้อเท็จจริง นำข้อมูลมาช่วยกันดูเพื่อให้ระบบเดินต่อไปได้ โดยที่ต่างฝ่ายต้องลดอัตตาตนเองลง ไม่ขัดแย้ง โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะไม่เช่นนั้นระบบคงไปไม่รอด ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องยอมรับว่ามีปัญหา และ สธ.ก็พร้อมจะรับฟัง
“เรื่องล้มบัตรทอง ไม่เคยคิดล้ม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาการเงินเข้ารับบริการอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลอย่างดีกว่าเดิมมาก และในฐานะที่เป็นหมอโรคหัวใจบอกได้ว่า สปสช.ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์โรคหัวเพิ่มขึ้นมาก ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างทั่วถึง แต่ในการดำเนินการหากระบบมีปัญหา สปสช.เองก็ต้องยอมถอยเพื่อแก้ไข แต่อย่าโมเมว่าเราต้องการล้มบัตรทองซึ่งไม่ใช่” ผอ.รพ.ชลบุรี กล่าว
- 389 views