นสพ.มติชน : หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ให้ "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานด้านการวิจัยและการพัฒนางานด้านการสุขภาพแห่งชาติ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 เพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ไม่สนองนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว จึงเกิดคำถามว่า นพ.ณรงค์ ได้ปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไรบ้าง "มติชน" มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ณรงค์ เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องนี้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

หลังจากมาปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาฯ ถูกมอบหมายงานอะไรบ้าง

ไม่ได้รับมอบหมายงานใดๆ แต่ผมก็ไปรายงานตัวที่สำนักนายกฯ ตามคำสั่งทุกวัน ส่วนใหญ่การทำงานจะไปตามคำเชิญของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามภูมิภาคมากกว่า

แสดงว่าไม่ได้ทำงานด้านที่ปรึกษาฯ

ส่วนใหญ่ผมจะทำงานด้านโรงพยาบาลคุณธรรม ซึ่งเป็นงานเดิมที่ทำสมัยอยู่ สธ. แม้ขณะนี้จะถูกย้าย แต่เมื่อส่วนภูมิภาคเชิญไปร่วมงาน ผมก็ไป ซึ่งขออนุญาตทางรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ทุกครั้ง

เหตุใดจึงเดินหน้าโรงพยาบาลคุณธรรม

เป็นงานที่ทำมานานแล้ว และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งมองว่านอกจากการออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้สามารถตรวจสอบได้แล้ว การปลูกฝังคุณธรรมในองค์กร หรือโรงพยาบาล ต้องเริ่มจากภายในด้วย โดยการให้ทุกคนเห็นว่า คุณธรรมต้องมาจากใจ ที่สำคัญขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนไล่รัฐบาลโกง โดยชาวสาธารณสุขทุกคนต้องทำให้เห็นว่า คนในกระทรวง ต้องโปร่งใส มีน้ำใจ มีคุณธรรมจริงๆ เพื่อให้เห็นว่าเราไล่รัฐบาลโกง ตัวเราก็ต้องตรวจสอบได้ และโปร่งใสด้วย

โรงพยาบาลคุณธรรมเป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นมาจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้ความสำคัญและเดินหน้าสร้างโรงเรียนคุณธรรมขึ้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริต้องการให้องคมนตรีแต่ละท่านเดินหน้า สร้างคนดีให้แก่สังคม ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม มองว่า ควรเริ่มจากโรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร โดยได้สังเคราะห์บทเรียนว่า ทุกคน ในโรงเรียน อยากจะปรับแก้อะไร อยากเห็นอะไรที่จะทำให้โรงเรียนพัฒนาขึ้น จนมีการจัดระเบียบ จัดอบรมต่างๆ เน้นเรื่องวินัย และมารยาทไทย เพื่อปูพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์เชิงคุณธรรม คือ "ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา" จากจุดนี้จึงได้ถูกนำมาใช้เป็นโมเดล  โดย นพ.อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ได้แปลงเรื่องนี้มาสู่โรงพยาบาลคุณธรรม และแต่ละพื้นที่ก็เดินหน้าเรื่องนี้มานาน

เหตุใดขณะนี้ สธ.ไม่มุ่งเน้น รพ.คุณธรรม

ผมไม่ทราบ คงต้องไปถามแต่ละพื้นที่ มีการปลูกฝังกันภายในโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดคุณธรรมขึ้นที่ภายใน ซึ่งโรงพยาบาลชลบุรี เป็นโรงพยาบาลแรกๆ ที่ทำเรื่องนี้ก็มีการสังเคราะห์บทเรียน ทำลักษณะคล้ายๆ โรงเรียนคุณธรรม โดยจากการระดมความคิดเห็นของบุคลากรโรงพยาบาลชลบุรี จึงได้สร้างอัตลักษณ์ของโรงพยาบาลขึ้น 3 อย่าง คือ "ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีน้ำใจ" โดยหลังจากได้อัตลักษณ์ดังกล่าว แต่ละหน่วยงานในโรงพยาบาลก็จะแปลง 3 อย่างสู่การปฏิบัติจริง ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประกาศเจตนารมณ์ไม่ดื่มเหล้าในเวลางาน จะไม่รับสินน้ำใจเมื่อมีการจัดที่จอดรถให้ และจะมีน้ำใจกับทุกคน เป็นต้น แม้กระทั่งโรงครัวยังประกาศว่า จากนี้ไปจะไม่เอาอาหารสด กลับบ้าน หรือนักศึกษาแพทย์ประกาศจะเรียนจบและบริการประชาชนด้วยใจจริงๆ

มีกี่เขตสุขภาพที่เดินหน้าเรื่องนี้

เท่าที่ทราบมีเขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 11 และเขต 12 นอกนั้นก็มีแล้วแต่จังหวัด แล้วแต่พื้นที่ อย่าง จ.หนองคายก็มี

คิดอย่างไรกับนโยบายทีมหมอครอบครัว

ต้องไปถามคนที่ทำงานในพื้นที่ ในตำบลดีกว่า แต่ส่วนตัวมองว่า ทศวรรษสถานีอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับชมรมสาธารณสุขประเทศไทย สมาคมหมออนามัย เพื่อพัฒนาสถานีอนามัยให้ดีขึ้น โดยมีการหารือว่าจะแปลงทศวรรษสถานีอนามัยอย่างไรให้เป็นรูปธรรม เรื่องนี้คงต้องไปถามคนในพื้นที่ หรือชมรมสาธารณสุขฯ และสมาคมหมออนามัย

มองการพัฒนาเขตสุขภาพ ณ ขณะนี้

ผมไม่ทราบความคืบหน้า แต่เป็นสิ่งที่ควรเดินหน้าต่อ เนื่องจากเป็นการทำงานในเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาล ที่เรียกว่า เขตสุขภาพ มีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน มีการพัฒนาระบบ การบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตรงนี้จะลดปัญหาความแออัด การกระจุกตัวในโรงพยาบาลจังหวัดได้

สุดท้าย นพ.ณรงค์ บอกว่า สธ.จะพัฒนาขึ้นได้ต้องอยู่ที่บุคลากรทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาค ไม่ใช่แค่ส่วนกลางเท่านั้น สำหรับตัวเองคงไม่มีอะไรแล้ว เพราะตอนนี้ก็เหมือนข้าราชการเกษียณก่อนกำหนดเท่านั้น

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 2558