“อาจารย์แพทย์ประสาทวิทยา คณะแพทย์ ม.ขอนแก่น” เผย ผลงาน สปสช. ร่วมกับสมาคมวิชาชีพ โรงเรียนแพทย์ รพศ. รพท. และ รพช. พัฒนาเครือข่ายรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 6 ปีช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่ม 220 % แถมอัตราได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพิ่ม 3,000 เท่า หรือ 3.81% ในปี 56 จากเดิมอยู่ที่ 0.01% ในปี 51 ช่วยลดภาวะอัมพฤตอัมพาตลงได้ แถมผู้ป่วยประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ได้รับประโยชน์เข้าถึงการรักษาจากการพัฒนาระบบ
นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต (Non – communicable Diseases - NCD) และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก ซึ่งจากที่ทำข้อมูลสำรวจพบว่า มีประชาชนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่รู้ว่าภาวะของโรคหลอดเลือดสมองผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว และยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังระบุด้วยว่า เมื่อเกิดอาการจะรอสังเกตอาการก่อน ซ้ำบางส่วนยังเลือกที่จะไปหาหมอตามคลินิก ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นปัญหา เพราะโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองเฉียบ ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและยาละลายลิ่มเลือดเร็วที่สุด ซึ่งการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดนี้มีมานานตั้งแต่ปี 2545 และเป็นแนวทางการรักษามาตลอด เพียงแต่มีปัญหาการเข้าถึง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้าบริหารจัดการโรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) โดยร่วมกับสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นอัมพฤตอัมพาตและเสียชีวิต เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาทันเวลา โดยได้เริ่มโครงการในปี 2551 เป็นต้นมา มีการจัดทำเครือข่าย Stroke Fast Track กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งพื้นที่เขต 7 ขอนแก่นมี รพ.ศรีนครินทร์ เป็นแม่ข่าย
ทั้งนี้จากการทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไดรับยาลิ่มเลือดน้อยมาก เพียงแค่ 0.01 % เท่ากับมีผู้ป่วย 10,000 คน ได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพียง 1 คนเท่านั้น แต่ในปี 2555 อัตราการเข้าถึงเริ่มเพิ่มขึ้นชัดแจน และในปี 2556 อัตราการเข้าถึงเพิ่มเป็นร้อย 220% ถือว่าเป็นสัดส่วนการเข้าถึงที่เยอะมาก ขณะที่มีผู้ป่วยที่ได้รับยาเพิ่มเป็น 3.81% หรือ 3,000 เท่า
“ในการบริหารของ สปสช.นอกจากในเรื่องของยาละลายลิ่มเลือดซึ่งในอดีตเป็นยาที่มีราคาแพงมากแล้ว ยังสนับสนุนค่ารักษาเพิ่มตามผลงานรายละ 70,000 บาทโดยประมาณ จากที่เรียกเก็บตามดีอาร์จีปกติ ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบเครือข่าย ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดำเนินควบคู่ไปโรงเรียนแพทย์ในการให้ความรู้กับนักศึกษาแพทย์ อายุรแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยนี้ จากที่แต่เดิมถูกทำให้เข้าใจว่าโรคนี้ต้องรักษาโดยหมอระบบประสาทเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น จึงนับว่าเป็นระบบที่ดีและประสบผลสำเร็จ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนับเป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมาจึงต้องเน้นการพัฒนาเครือข่าย เพราะผู้ป่วยมีโอกาสที่มีภาวะเป็นอัมพาตเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมองสามารถหายขาดได้ถึง 50% หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีอาการเริ่มต้น ซึ่งหากเลยเวลานี้ไปแล้วโอกาสที่จะรักษาให้เป็นปกติจะเป็นเปอร์เซ็นที่ต่ำมาก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องถูกนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยต้องถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง เพราะในโรงพยาบาลจะต้องมีกระบวนการวินิจฉัยและรักษาอีก 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามหลังจากการสร้างเครือข่ายรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ขณะนี้ทั่วประเทศมีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ส่วน 72 จังหวัดที่เหลือสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้แล้ว
ส่วนที่ยังเป็นปัญหาในระบบและต้องปรับปรุงเพิ่มเติมนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะเข้าสู่ระบบการรักษาเพิ่มขั้นชัดเจน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด พบว่ามีเพียงแค่ 30 % เท่านั้น ที่สามารถนำส่งเข้าระบบรักษาได้ทัน อีกทั้งบางคนที่มาถึงโรงพยาบาลไม่ใช่ว่าจะให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เพราะมีภาวะเลือดออกในสมอง หรือมีข้อห้ามรับยาละลายลิ่มเลือด คนไข้พร้อม ภาวะโรครุนแรง ซึ่งหากทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เข้าสู่ระบบได้ทันเวลาทั้งหมดก็จะทำให้มีผู้ป่วยได้รับยาและมีโอกาสหายเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการศึกษาคนที่อายุ 45-80 ปี พบผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1,880 คนต่อประชากรแสนคน นั่นหมายถึงทุกๆ นาทีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ 1 ราย
“การจัดตั้งเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนี้ เป็นผลงานของ สปสช. เรื่องนี้ผมกล้าพูด โดย สปสช.เน้นการจัดตั้งเครือข่ายการดูแลรักษากลุ่มโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เริ่มต้นจากโรงเรียนแพทย์ และขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน และจากการจัดตั้งเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนี้ ยังส่งผลให้ผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
- 23 views