“จอน อึ้งภากรณ์” ห่วงรัฐเตรียมขยายวีซ่าดึง “ผู้ป่วยพม่า-จีน” รักษา “เมดิคัล ฮับ” หวั่นกระทบผู้ป่วยไทย ดึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ไหลออกจากภาครัฐเพิ่ม โดยเฉพาะการขยายฐานการตลาดในจีน เหตุมีประชากรถึง 1 ใน 5 ของโลก อนาคตอาจมีการตั้ง รพ.เพื่อรองรับเฉพาะ พร้อมแนะรัฐต้องมีมาตรการดึงบุคลกรอยู่ในระบบ พร้อมต้องให้ รพ.เอกชน มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพ
จากกรณีที่มีกระแสข่าวในการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (เมดิคัล ฮับ) โดยมีการหารือเพื่อเตรียมขยายวีซ่านักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ อย่าง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สามารถพำนักในประเทศไทยรวม 90 วัน เพื่อสนับสนุนการรับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย จากปัจจุบันที่วีซ่านักท่องเที่ยวชาวเมียนมาร์พำนักในไทยได้ครั้งละ 60 วัน ขณะที่ชาวจีนพำนักในไทยไม่เกิน 15 วันนั้น
นายจอน อึ้งภากรณ์
นายจอน อึ้งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะมีผลกระทบต่อระบบรักษาพยาบาลในประเทศ เพราะเมดิคัลฮับที่ดำเนินอยู่นี้เป็นนโยบายที่มีความความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการเน้นส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยถูกมองเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่สามารถนำเงินตราสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้ แต่ก็ขัดกับนโยบายหลักประกันสุขภาพ ไม่แต่เฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงในระบบประกันสังคมและอื่นๆ ที่มุ่งดูแลรักษาพยาบาลคนไทย เพราะเมดิคัล ฮับ ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชนจะมีการดูดทรัพยากรที่ควรจะดูแลรักษาคนในประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และวิชาชีพในระบบสุขภาพอื่นๆ สู่การบริการชาวต่างชาติ ด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคลกรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์
ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในระบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่บุคลากรเหล่านั้นโดยเฉพาะแพทย์ ในการผลิตรัฐได้เป็นผู้สนับสนุนด้วยการให้ทุนการศึกษา แทนที่จะทำงานในระบบกลับไหลไปอยู่ในระบบเอกชนแทน และแม้ว่าจะมีหลักเกณฑ์กำหนดให้ใช้ทุนหลังเรียนจบ แต่ด้วยเงินชดเชยที่ต่ำมาก ทำงานเพียงแค่ 2-3 เดือนก็สามารถใช้เงินคืนทุนแล้วแล้ว ดังนั้นหากจะมีการเดินหน้านโยบายนี้จะต้องแยกการผลิตบุคลากรเด็ดขาด โดยผู้ที่เรียนจบและตั้งใจจะทำงานยัง รพ.เอกชน หรือดูแลคนไข้ต่างประเทศ ควรเข้าเรียนยังสถานบันเอกชนที่ต้องจ่ายค่าศึกษาเต็มอัตรา
“ปัญหาคือ 2 นโยบาย เมดิคัลฮับกับระบบหลักประกันสุขภาพนั้นขัดแย้งกัน ถึงอย่างไรผมก็ไม่เห็นด้วยนโยบายเมดิคัลฮับที่ส่งเสริมชาวต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย หรือการท่องเที่ยวที่เน้นบริการทางการแพทย์ตั้งแต่แรก เพราะเราควรดูแลประชาชนในประเทศให้รับการรักษาอย่างทั่วถึงก่อน ซึ่งปัจจุบันบุคลากรในระบบก็ไม่เพียงพออยู่แต่ แต่กลับผลักดันให้ไหลสู่ธุรกิจเอกชน ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่” ที่ปรึกษาระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับทุนเรียนแพทย์จากภาครัฐควรมีข้อผูกมัดใช้ทุนมากกว่าที่ผ่านมา หรือในกรณีที่ใช้ทุนไม่ครบกำหนดเพื่อทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็ควรเสียค่าปรับที่แพงกว่าปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการผลิตบุคลากรการแพทย์เพื่อป้อนภาคธุรกิจ ไม่ใช่การดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นายจอน กล่าวว่า ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นเมดิคับฮับจะต้องมีข้อกำหนด ซึ่งนอกจากรักษาชาวต่างชาติแล้ว ต้องรับดูแลคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรของประเทศที่อยู่จำกัด โดยต้องกันเตียงส่วนหนึ่งในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ และต้องปฎิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในโรงพยาบาลเอกชน คือมีการปฏิบัติระหว่างผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงประกันสังคมและผู้ป่วยจ่ายเงินเองแตกต่างกัน แยกส่วนการดูแลผู้ป่วย มีปัญหาคิวยาว จำกัดจำนวนแพทย์บริการที่น้อยกว่า เป็นต้น
ส่วนกรณีการขยายวีซ่าและเน้นทำการตลาดโดยดึงชาวจีนเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในไทยจะมีผลกระทบอย่างไรนั้น นายจอน กล่าวว่า ประเมินได้ยากเพราะตนไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของจีนเป็นอย่างไร หรือชาวจีนมีความสามารถในการจ่ายมากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับว่ามีหลายโรคที่แพทย์ไทยรักษาเก่งกว่า อย่างโรคมะเร็ง ผ่าตัดหัวใจ และหากชาวจีนไหลเข้ามารักษาจริงก็น่าเป็นห่วง เพราะประเทศจีนมีประชากรจำนวนมากถึง 1 ใน 5 ของโลก และขณะนี้จำนวนคนจีนที่มีฐานะพอเดินทางไปต่างประเทศก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตหากมีชาวจีนไหลเข้ารับการรักษายังไทยจำนวนมากก็อาจจะมีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อรองรับ ซึ่งจะกระทบต่อระบบรักษาพยาบาลคนไทยแน่นอน นับเป็นเรื่องที่น่ากลัว
ต่อข้อซักถามว่า ในการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไหลออกนอกระบบ ควรมีการดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และการบรรจุตำแหน่งข้าราชการด้วยหรือไม่ นายจอน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมีภาระงานมาก ก็ควรได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับเนื้องานที่ทำ และต้องมีการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนเหล่านี้เกิดความพอใจที่จะอยู่ในระบบ ทั้งนี้ตนไม่ได้ค้านการเพิ่มค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ ซึ่งหากไม่เหมาะสมก็ควรมีการปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมองปัญหาในระบบรักษาพยาบาลในบ้านเราต้องแก้ในภาพรวมทั้งหมด เพราะมีความเกี่ยวพันกัน
- 8 views