สปส.เตรียมออกกฎหมายลูกเพิ่มสิทธิประโยชน์เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ และเพิ่มเงินค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่
นางชลอลักษณ์ แก้วพวง ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.อยู่ระหว่างการดำเนินการออกกฎหมายลูกเพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งจะมี 2 เรื่องที่เพิ่มขึ้นมา คือ 1.การสร้างเสริมป้องกันสุขภาพ และ 2.การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ
นางชลอลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างเสริมป้องกันสุขภาพ เป็นสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา แต่รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ วิธีการจ่ายเงินแก่โรงพยาบาลที่ทำสัญญากับ สปส. ว่าจะเป็นเท่าไหร่อย่างไรนั้น ต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนจัดทำกฎหมายลูกก่อน
เช่นเดียวกับการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ จากเดิมที่กำหนดว่าผู้ประกันตนต้องสูญเสียสรรถภาพไม่น้อยกว่า 50%ของร่างกาย จึงจะได้เงินชดเชยทุพพลภาพ 50% ของรายได้ไปตลอดชีวิต แต่ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ จะปรับเกณฑ์ลงมาเป็นต้องสูญเสียสรรถภาพไม่น้อยกว่า 35% ของร่างกาย ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายหลัก แต่จะดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายลูก รวมทั้งต้องการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์เพื่อกำหนดว่าการบาดเจ็บทุพพลภาพ 35% ของร่างกายนั้นหมายถึงอะไร มีหลักเกณฑ์การประเมินอย่างไร
“หลังจาก พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาจะต้องออกกฎหมายลูกภายใน 120 วัน ซึ่งกฎหมายลูกที่ต้องจัดทำทั้งหมดมี 17 ฉบับ ตอนนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการมาออกกฎหมายลูกแล้ว ซึ่งคงต้องรอดูว่าจะทำเรื่องไหนก่อน”นางชลอลักษณ์ กล่าว
อนึ่ง สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้านต่างๆ ที่มีการแก้เพิ่มเติมขึ้นมาใน พ.ร.บ. ประกันสังคม ประกอบด้วย 1.ประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้แก่ 1.1 ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ 1.2 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานจ่ายให้ผู้ประกันตนแล้ว ให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้ 1.3 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีทุพพลภาพ หรือกรณีตาย แม้ปรากฏว่าการประสบอันตราย หรือการทุพพลภาพ หรือการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุที่บุคคลดังกล่าวจงใจก่อให้เกิดขึ้น หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
2. กรณีคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร ได้รับประโยชน์ทดแทนเร็วขึ้น คือ จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะ 15 เดือนก่อนรับบริการทางการแพทย์ (เดิม 7 เดือน), ไม่กำหนดจำนวนครั้งการได้ประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร (เดิมไม่เกิน 2 ครั้ง), เพิ่มจำนวนบุตร 3 คนที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร (เดิมไม่เกิน 2 คน)
3. กรณีเสียชีวิต ก่อนถึงแก่ความตาย ถ้าผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวน 50% ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 12
4.กรณีชราภาพ กำหนดให้บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ เป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพให้ได้รับหนึ่งส่วน นอกเหนือจากบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามีหรือภรรยา และบิดามารดาได้, ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท สามารถทำหนังสือระบุคคลผู้มีสิทธิรับบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าก่อนตายได้ และ ผู้ประกันตนที่ไม่ใช่สัญชาติ สามารถเลือกรับรับบำเหน็จชราภาพได้ ภายหลังการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตน ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และและไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย
5. กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานเพราะเหตุสุดวิสัย หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ถ้าได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนว่างงาน ให้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
- 6 views