กระทรวงสาธารณสุข เผยโรคไข้กาฬหลังแอ่นพบได้ตลอดปี ปีละ 20-30 ราย ปี 2558 นี้ ครึ่งปีแรกมีรายงานผู้ป่วยแล้ว 8 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคไข้กาฬหลังแอ่นไม่มีฤดูกาลเกิดโรคที่ชัดเจน แม้พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงกับเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5-10 มียารักษาให้หายขาด การป้องกันโรค คือ ไม่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไอจามปิดปากปิดจมูก และควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หากสงสัยป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อไนซีเรีย เมนนิงจิไทดิส (Neisseria meningitidis) โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ กระจายทั่วโลก แตกต่างกันตามฤดูกาลในแต่ละแห่ง ถิ่นที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงที่สุดอยู่ที่อาฟริกาตอนกลางที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่เซเนกัลไปจนถึงเอธิโอเปีย มีประเทศที่เป็นพื้นที่การระบาดรวม 21 ประเทศ ในภูมิภาคของเรานี้ มีอัตราการติดเชื้อแบบประปรายไม่มาก เกิดเป็นประจำตลอดปี
ส่วนมาตรการในการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ได้แก่ 1. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ โดยลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับนํ้ามูกนํ้าลายของผู้ป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิด 2. ลดความแออัดของผู้คนในสถานที่ที่คนอยู่กันจำนวนมาก เช่น ในค่ายทหาร โรงเรียน ที่พักแรม และในเรือให้มีสุขอนามัยที่ดี และ 3. ใช้วัคซีนป้องกันโรคแก่กลุ่มเสี่ยง และ ๔.มาตรการในการควบคุมการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น ได้แก่ ดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด วินิจฉัยโรคเร็วและให้การรักษาแก่ผู้ป่วยสงสัยทันที การให้ยาป้องกันในผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงและการให้วัคซีนในกลุ่ม
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดต่อที่อยู่ในระบบรายงานการเฝ้าระวังโรคของประเทศไทยนานแล้ว โดยกรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะพบผู้ป่วยปีละประมาณ 30 ราย จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบผู้ป่วยลดลง ประมาณน้อยกว่า 20 รายต่อปี และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย การเกิดโรคมีลักษณะกระจาย ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือมีฤดูกาลระบาดที่ชัดเจน จากรายงานการเฝ้าระวังโรคกาฬหลังแอ่น โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน พบมีผู้ป่วยทั่วประเทศสะสม 8 ราย จาก 6 จังหวัด คือ กระบี่ ปัตตานี สงขลา ลพบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ไม่มีเสียชีวิต แต่ล่าสุดมีรายงานผู้ป่วย โรคกาฬหลังแอ่นเสียชีวิต 1 ราย และกำลังรักษาในโรงพยาบาล 1 ราย ที่จังหวัดสตูล โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่างๆ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีความเครียด สุขอนามัยไม่ดี อยู่ในที่แออัด เช่น เรือนจำ ค่ายทหาร หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อาการของโรค คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำจนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอย่างรุนแรง ซึ่งการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ทำให้มีอาการสำคัญที่เรียกว่า “คอแข็ง” และในรายที่มีอาการรุนแรง คือการอักเสบลุกลามลงมาตามไขสันหลังก็จะมีอาการตัวเกร็งหลังแอ่น เป็นที่มาของคำว่า “หลังแอ่น” บางรายมีอาการรุนแรงช็อกถึงตายได้ในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
“โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุตํ่ากว่า 5 ปี โรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยการให้ยาฆ่าเชื้อ การป้องกันโรค คือ ไม่ควรสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ การให้ยาป้องกันกับผู้ที่สัมผัสโรคใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย ทหารในค่ายเดียวกัน และผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดในชุมชน และโรคนี้มักมีการระบาดเป็นพื้นที่ พบมากในตะวันออกกลางหรือแอฟริกา หากจะเดินทางไปในเขตที่มีการระบาดก็อาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนเดินทาง หากสงสัยว่ามีอาการ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
- 43 views