มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดตัวชุดทดสอบสำเร็จรูป วินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดในคนอย่างรวดเร็ว ชุดแรกของโลก“KAN-Gnathostomiasis ICT-Kit” งานวิจัยของศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ รศ.นพ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว
ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์
ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ เจ้าของผลงานวิจัย KAN ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคพยาธิตัวจี๊ดสูงที่สุดในกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ ความร้ายแรงของการเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดคือการไชไปที่สมอง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมอง และหากตรวจพบว่าพยาธิไชไปที่ไขสันหลังจะส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต อย่างไรก็ตามอัตราความชุกของผู้ป่วยยังบ่งบอกได้ยาก เนื่องจากชุดทดสอบเดิมทำได้เฉพาะห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลบางแห่ง โดยใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยในชุมชนเข้าถึงการวินิจฉัยโรคยาก ส่งผลให้ไม่สามารถระบุความชุกที่แน่ชัดได้ ทีมผู้วิจัยจึงคิดค้นชุดทดสอบที่สามารถร้นระยะเวลาและสามารถทราบผลตรวจได้อย่างแม่นยำได้ทันที เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาในขั้นต่อไปได้ทันเวลา
สำหรับ KAN-Gnathostomiasis ICT-Kit หรือเรียกโดยย่อว่า KAN คือ ชุดทดสอบสำเร็จรูปเพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดในคน ที่ใช้เวลารวดเร็วเพียง 10 นาที โดยหนึ่งกล่อง ประกอบด้วย แผ่นทดสอบ 5 แผ่น/ซองx 4 ซอง บัฟเฟอร์สำหรับเจือจางซีรั่ม 4 ขวด บัฟเฟอร์สำหรับชะให้ตัวอย่างซีรั่มและสารเคมีขึ้นไปทำปฏิกิริยาในแผ่นทดสอบ 4 ขวด แผ่นเทียบสี 1 แผ่น คู่มือการใช้ 1 แผ่น โดยหนึ่งกล่องสามารถตรวจวินิฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดในผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 20 ราย
ข้อดีของชุดทดสอบ KAN คือ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลชุมชน หรือคลินิกเอกชนสามารถทดสอบได้เอง สะดวก รวดเร็ว ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ผลการทดสอบมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดจากโรคพยาธิตัวจี๊ด ผลการตรวจเชื่อถือได้ เมื่อประกอบกับอาการทางคลินิกสามารถวินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดได้แม่นยำ
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแนวนโยบายสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในคณะแพทยศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรักษาผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งงานวิจัย KAN นอกจากจะได้รับทุนสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ยังเป็นการร่วมมือระหว่างจากสถาบัน National Institute of Infectious Diseases ประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างห้องสมุดยีน (cDNA library) และค้นพบโคลนของแบคทีเรียที่ผลิต รีคอมไบแนนท์โปรตีน (recombinant protein) จำเพาะต่อโรคพยาธิตัวจี๊ด (rLiC18 protein) ได้สำเร็จ และ บริษัท ADTEC Inc. Co. ประเทศญี่ปุ่น สามารถผลิตชุดทดสอบสำเร็จ
ปัจจุบันชุดทดสอบ KAN มีค่าใช้จ่ายในการตรวจผู้ป่วย 1 ราย/1 ครั้ง เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,000 บาท ในอนาคตทีมผู้วิจัยคาดว่าจะสามารถพัฒนาชุดทดสอบในประเทศไทยได้สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และกระจายชุดทดสอบให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกพื้นที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลชุมชน หรือคลินิกเอกชนสามารถทดสอบได้เอง สะดวก รวดเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ รวดเร็วขึ้น ลดอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคพยาธิตัวจี๊ดในอนาคต
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ : แผ่นแอนติเจนสำหรับตรวจหาแอนติบอดี ผู้ป่วยโรคพยาธิตัวจี๊ด (gnathostomiasis) ที่เป็นรีคอมไบแนนท์โปรตีนจาก ยีนไฮโพะเธทอิแค็ลของพยาธิตัวจี๊ด; เลขที่คำขอ: 1501001673/วันยื่นคำขอ 17 มีค. 2558
ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ห้องปฏิบัติการงานบริการ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข. ได้นำ KAN-gnathostomiasis ICT Kit เปิดให้บริการตรวจแทนวิธี Western blot สนใจต้องการส่งตรวจ ติดต่อได้ที่ โทร. 043-363432 ต่อ101 และ 103 หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ Email: pewpan@kku.ac.th โทร. 086-8522100
- 189 views