กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทย 3–5 ปีมีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 34 นักเรียนชั้นป.1ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ จับมือมหาดไทย ศึกษา และพัฒนาสังคมฯ เร่งพัฒนาเด็กเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งเป้าให้เด็กไทยมีพัฒนาสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลดเด็กปัญญาอ่อนได้ปีละกว่า 500 คน ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิดให้เหลือกว่า 8 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์ สุขภาพเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 16 และให้สัมภาษณ์ว่า จากผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2557 พบเด็กอายุ 3–5 ปี มีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 34 และ ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2558 ในนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ทั่วประเทศ 5,000 คน พบไอคิวเฉลี่ย 93.1 จุด ตามมาตรฐานต้องมีไอคิว 100 จุด สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากจากแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมากขึ้น การที่แม่อายุน้อย จะส่งผลกระทบหลายด้านทั้งอัตราการทำแท้ง ที่น่าเป็นห่วงคือ ทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งการติดเชื้อ เจ็บป่วยง่าย รวมทั้งพัฒนาการล่าช้า จากที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 8 แสนคนต่อปี
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงมีนโยบายให้ปัญหาเรื่องพัฒนาการเด็กเป็นวาระระดับชาติ มอบกระทรวงสาธารณสุขบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาดไทย ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการ “การส่งเสริมการพัฒนาเด็กเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา” คัดกรองภาวะการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกคลอด และให้ได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนได้ทันในช่วงเวลาทอง (golden period) 2 สัปดาห์แรก จะลดเด็กปัญญาอ่อนได้ปีละกว่า 500 คน มีระบบคัดกรองและให้คำปรึกษา เพื่อยุติการตั้งครรภ์โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แก้ไขปัญหาโรคอ้วน โรคเด็กตัวเล็ก ตรวจสอบและรักษาผู้ที่มีความล่าช้าในการพัฒนา ตั้งเป้าให้เด็กไทยมีพัฒนาสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิดไม่เกิน 8 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย
นอกจากนี้ ได้มีการแจกยาเม็ดโฟลิกเสริมไปโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดขณะเลี้ยงลูกด้วยมนแม่ 6 เดือน เพื่อให้เด็กได้รับไอโอดีนและโฟลิกที่เพียงพอต่อพัฒนาการ จัดทำคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก มีทีมหมอครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ทั่วประเทศ 1ล้านกว่าคนให้คำปรึกษา จัดทำหลักสูตรความรู้เรื่องสุขอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงสูง เช่น การสูบบุหรี่และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับการประชุมฯครั้ง มีหัวข้อหลักคือ “ก้าวไปข้างหน้าเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นเด็ก(Step Forward to Better Child Health)” เน้นนโยบายการจัดการปัญหาสุขภาพเด็กระดับประเทศ การลดอัตราการตายของทารกแรกเด็ก รวมถึงการเชื่อมโยงถึงปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2558 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยกุมารแพทย์ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และนักวิชาการสาธารณสุข จาก ลาว เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และญี่ปุ่น จำนวน 400 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ องค์ความรู้ งานวิจัย ทั้งในด้านเทคนิคและระบบการให้บริการสาธารณสุข
- 3 views