นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : นโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีเบนิโญ อะคีโน แห่งฟิลิปปินส์ ที่ตัดสินใจแปรรูปโรงพยาบาลของภาครัฐ ให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้รับช่วงดูแลแทน ทำให้เกิดความกังวลว่า ประชาชนในฟิลิปปินส์จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย จะไม่สามารถแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลได้ในอนาคต

เอเอฟพี รายงานกรณีตัวอย่างการแปรรูปสถานพยาบาลภาครัฐ "ฟิลิปปินส์ ออร์โธพีดิกส์ เซนเตอร์" โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกแห่งเดียวของฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะถูกส่งผ่านให้อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทเมกะ เวิร์ลด ซิตี้ เป็นเวลา 50 ปี ตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นไป หลังจากที่ บริษัทดังกล่าวชนะการประมูลโครงการจากรัฐบาล โดยในบทความดังกล่าวของเอเอฟพี แสดงให้เห็นถึงความกังวลของ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า เมื่อโรงพยาบาลกลายเป็นของเอกชนแล้ว ทางเลือกด้านสุขภาพของตนคงจะต้องลดลงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลฟิลิปปินส์ ออร์โธพีดิกส์ เซนเตอร์ รองรับผู้ป่วยปีละกว่าหลายพันคน ตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อปี 2488 เป็นต้นมา โดยสถิติของโรงพยาบาลระบุว่า เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 7,000 คน แต่มีผู้ป่วยเพียง 2% เท่านั้นที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวน ขณะที่ผู้ป่วยที่เหลือ บ้างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และ เข้ารับการผ่าตัดที่ซับซ้อนโดยไม่ต้อง จ่ายเงิน

นายโฆเซ บริตตานิโอ ปูฆัลเต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวระบุว่า "เป็นเรื่องยากที่จะบริหารงานให้เกิดผลกำไร เมื่อเราให้การรักษากับประชาชนที่ยากจน และ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของเรา ถือเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดของที่สุด และไม่มีที่พึ่งที่อื่น"

ด้าน น.ส.คอเซตต์ คานิลาโอ ผู้บริหารหน่วยงานเพื่อการจัดการแปรรูปหน่วยงานภาครัฐให้เป็นเอกชนของฟิลิปปินส์ระบุว่า "ฟิลิปปินส์มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศ และสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือ ต้องร่วมมือ กับภาคเอกชน ให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารงาน" พร้อมระบุถึงความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลว่า เอกชนที่จะเข้ามาดูแลโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ระบุไว้แล้วว่า จะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการเพียง 10% ของ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่มีทางออกที่แน่ชัดว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ค่ารักษาในส่วนที่เหลือ

นอกจากโรงพยาบาลฟิลิปปินส์ ออร์โธ พีดิกส์ เซนเตอร์แล้ว ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ อีกทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะเตรียมเข้าสู่กระบวนการแปรรูป รวมทั้งโรงพยาบาลจิตเวชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติเป็น ประจำทุกปี บริเวณตอนกลางของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษาจำนวนมาก จะต้องประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขในฟิลิปปินส์ ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ ที่ 20 โดยคณะผู้เผยแพร่ศาสนาที่เดินทาง เข้ามาในประเทศ ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฟิลิปปินส์เริ่มตั้งโรงเรียนแพทย์ เพื่อผลิต บุคลากรให้เข้ามาทำหน้าที่ในสายงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพิ่งเป็นช่วงหลังมานี้เอง ที่โรงพยาบาลในฟิลิปปินส์เริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบการให้บริการเพื่อผลกำไรมากขึ้น โดยแพทย์ที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์เริ่มเข้ามาจับธุรกิจโรงพยาบาล และเปิดสถานบริการร่วมกัน เช่น โรงพยาบาล "มะนิลา ดอกเตอร์ ฮอสพิทัล" ที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มแพทย์ชื่อดังของฟิลิปปินส์

บิสซิเนส เวิร์ลด ออนไลน์ สื่อของฟิลิปปินส์ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของโรงพยาบาลที่ควบคุมโดยภาคเอกชนเพื่อเน้นแสวงหากำไร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดที่ขัดแย้งกับเจตนาที่จะให้การรักษาเพื่อการกุศลตามวัตถุประสงค์แรกสุดของการรักษา นอกจากนี้ บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลให้มากที่สุด เพื่อหาแนวทางรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่งแน่นอนว่าจะยิ่งเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 2558