สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนัดถกรัชตะ วอนแก้ปัญหาคุณภาพการรักษาและคุณภาพชีวิตผู้ปฏิบัติงาน เสนอ 4 ข้อใหญ่ เช่น แยกเงินเดือนจากงบรายหัว, P4P จ่ายแบบเดิม ไม่ต้องมีภาระเก็บข้อมูล, แยก สธ.ออกจาก ก.พ., ร่วมจ่ายในบางกรณี พร้อมยันไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไปให้กำลังใจ นพ.ณรงค์
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ทาง สพศท. จะเข้าพบหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสะท้อนปัญหาของแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ให้ ศ.นพ.รัชตะ รับทราบและแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้า ทางคณะกรรมการ สพศท. จะประชุมกันก่อน เพื่อสรุปว่าจะหยิบยกประเด็นใดขึ้นมาหารือกับรัฐมนตรี สธ. บ้าง ซึ่งหลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ปัญหาคุณภาพการรักษา เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริหารของ สธ.จะพูดแต่เรื่องการเงินการคลัง การจัดการงบต่างๆ แต่ยังไม่มีพูดถึงเรื่องคุณภาพการรักษา ซึ่งทาง สพศท.อยากสะท้อนให้ ศ.นพ.รัชตะ ทราบ ทั้งเรื่องการขาดแคลนบุคลากร แพทย์ไหลออกจนคนที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้น รวมถึงประเด็นการขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ อาคาร ห้องผ่าตัด ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทบกับคุณภาพการให้บริการประชาชนทั้งสิ้น จึงอยากให้ทางรัฐมนตรี สธ. ให้ความสำคัญและหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
2.ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาแรก เพราะหากดูในช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหรือทางแอพพลิเคชั่น Line จะพบว่าแพทย์ผู้ปฏิบัติงานสะท้อนออกมาว่าเหนื่อย ทำงานหนัก ดังนั้นจึงอยากให้ รัฐมนตรี สธ. ลงมาดูแลปัญหานี้ด้วย
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า การเข้าพบ ศ.นพ.รัชตะ ดังกล่าว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกมาชุมนุมกันวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาแต่อย่างใด เนื่องจากการหารือครั้งนี้นัดหมายล่วงหน้ามากว่า 2 เดือน
นอกจากนี้ เรื่องของ นพ.ณรงค์ ก็พ้นจากการดูแลของ ศ.นพ.รัชตะ ไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสอบสวนชุดที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานแล้ว การหารือของ สพศท. ครั้งนี้ จึงอยากพูดเรื่องที่ ศ.นพ.รัชตะ สามารถสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาได้มากกว่า
อนึ่ง พญ.สุธัญญา บรรจงภาค กรรมการ สพศท. ได้จัดทำข้อสรุปข้อเสนอถึงรัฐมนตรี สธ.ใน 4 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย 1.ประเด็นระบบบริการสาธารณสุข โดย 1.1 ให้สนับสนุนการบริหารงานแบบเขตสุขภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลากรทุกระดับ โดยการทำประชาพิจารณ์อย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี 1.2 ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณแบบเดิมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แยกเงินเดือนออกมาจากงบประมาณรายหัวประชากรและให้จ่ายตามภาระงานจริงอย่างเพียงพอและเป็นธรรม 1.3 เสนอให้เพิ่ม co-payment เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ลดภาวะขาดทุนของสถานบริการ ในกรณียานอกบัญชียาหลัก นอกเวลาราชการที่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน เลือกแพทย์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด คลอดจนกรณีคลอดบุตรคนที่ 3 และ 1.4 จัดสรรงบประมาณหรือมีระบบสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ จัดระเบียบแรงงาน คัดกรองผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และถ้ามีการตั้งครรภ์ต้องส่งกลับไปคลอดที่ประเทศเดิม
2.ประเด็นเกี่ยวกับบุคคลากร 2.1 ขอให้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการบุคลากรที่ขาดแคลนใหม่ เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาขาดแคลน อาจต้องใช้ร่วมกันในเขต หรือ Part time แบบเอกชน โดยมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม 2.2 ให้พัฒนาระบบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โดย telemedicine line, มือถือ หรือจัดวิชาการสัญจร สร้างแรงจูงใจและมีระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งมีงบประมาณพอเพียงสำหรับสถาบันเฉพาะโรคต่างๆ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ 2.3 ระบบ P4P ควรจ่ายแบบเดิม ไม่ต้องมีภาระเก็บข้อมูล การตรวจรักษาผู้ป่วยใน ในวันหยุดราชการควรมีค่าตอบแทน 2.4 ประกาศใช้มาตรฐานภาระงานของบุคลากรเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้มาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรค่าตอบแทน กำลังคน สอดคล้องกับภาระงาน 2.5 เสนอกฎหมายเพื่อแยกข้าราชการ สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เนื่องจากบุคคลากรสาธารณสุขมีลักษณะการทำงานต่างจากกระทรวงอื่นๆ มีหลายสาขาวิชาชีพ มีความเหลื่อมล้ำในค่าตอบแทน ความก้าวหน้าวิชาชีพ จึงควรปฏิรูปให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
3.กฎหมายทางการแพทย์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ทำให้แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์มีความกังวล สร้างความเครียดและทำลายสัมพันธภาพที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทำให้เกิด Defensive medicine เกิดค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการสูงขึ้น ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ผู้ป่วยที่ซับซ้อนถูกปฏิเสธการรักษา เช่น preterm with RDS, aortic aneurysm FB in air way ฯลฯ การขยายฐาน ม.41 ครอบคลุมทุกสิทธิ์จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว
4.สธ.แพ้คดีบ่อย ทั้งที่ราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ มีความเห็นว่าไม่ผิด แต่ศาลตัดสินให้ผิด ทำให้มีผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขอย่างแรง ทำให้บุคคลากรเสียกำลังใจ เกิดภาวะ Defensive medicine อย่างรุนแรง เช่น กรณีคดี รพ.ร่อนพิบูลย์ ทำให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไม่ผ่าตัดไส้ติ่ง ส่งผู้ป่วยมาล้นที่ รพท./รพศ. หรือกรณีคลอดติดไหล่ อาจทำให้มีการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมากขึ้น มีการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพช. มา รพท./รพศ. มากขึ้น
- 12 views