‘นพ.รัชตะ’ เผยผลประชุม คกก.แก้ไขปัญหาค่ารักษาแพง มีมติให้ รพ.เอกชนคิดค่ายาไม่เกินราคาฉลาก พร้อมเพิ่มทางเลือกประชาชนนำใบสั่งยาซื้อนอก รพ.ได้ พร้อมประกาศอัตราค่ารักษาของรพ.เอกชน 77รายการแรก เช่น การผ่าตัดหัวใจ ตาต้อกระจกทางเว็บไซต์ใน 1 เดือนนี้ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน มอบ สพฉ.ดูแล 5 แนวทาง มีระบบพิสูจน์รับรองไม่เกิน 15 นาที ปรับกลไกจ่ายเงินสมเหตุผล ส่งต่อผู้ป่วยกลับ รพ.ต้นสังกัดหลัง 72 ชั่วโมงแรก ใช้สิทธิจาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถก่อน และหากมีประกันสุขภาพเอกชน คาดใช้เวลาปรับระบบใน 2 เดือน
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สมศักดิ์ ชุณรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพงของโรงพยาบาลเอกชน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 814 /2558 แต่งตั้งเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการดำเนินงาน ได้เสนอผลสรุปใน 3 เรื่องได้แก่ การคิดราคาค่ายา การรักษาผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน และระบบการตรวจสอบอัตราค่ารักษาพยาบาล และการให้ข้อมูลประชาชน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ทนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ มีนโยบายสนับสนุนกลไกการตลาดการค้าเสรีแก่ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงหากราคาบริการของโรงพยาบาลเอกชนแพงเกินไป จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง รวมทั้งให้ความสำคัญการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ
สำหรับเรื่อง ราคาค่ายา ที่ประชุมได้มีมติให้กำหนดอัตราเรียกเก็บที่เกี่ยวกับยา 2 รายการ คือ 1.ราคายาให้จำหน่ายได้ไม่เกินราคาที่ติดมาจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายราคาเดียวกันทั่วประเทศ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์ 2.ค่าบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีต้นทุนแตกต่างกัน เช่น การเตรียมยาเคมีบำบัด การเตรียมสารละลายหรือสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ การให้คำปรึกษาด้านยาในผู้ป่วยเฉพาะราย การให้การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยใน การเพิ่มระบบงานในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วย เป็นต้น และได้เพิ่มทางเลือกแก่ประชาชน หากเห็นว่ายาในโรงพยาบาลมีราคาสูง สามารถนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับสภาเภสัชกรรมดูแลมาตรฐานร้านขายยาทั่วประเทศ มีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุมและจ่ายยา ทางกระทรวงสาธารณสุขจะส่งเรื่องการกำหนดราคายา ให้คณะกรรมการว่าด้วยสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อออกประกาศใช้โดยเร็ว และให้เวลาผู้ผลิตหรือจำหน่ายยา ร้านยา โรงพยาบาลเอกชน พัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับระบบใหม่โดยเร็วที่สุด
ประเด็นที่ 2 คือระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินวิกฤตที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ที่ประชุมได้มีมติให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) บริหารจัดการระบบใน 5 แนวทาง ดังนี้ 1.มีระบบพิสูจน์และรับรองผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจากโรงพยาบาลเอกชน ไม่เกิน 15 นาที 2.ปรับปรุงกลไกการจ่ายเงินค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงแรก ให้สมเหตุสมผล 3.พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่พ้นภาวะวิกฤตหลังจาก 72 ชั่วโมงแรกกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด 4.กรณีผู้ป่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ให้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ.นี้ก่อน และ 5.กรณีมีประกันสุขภาพเอกชน ให้เป็นทางเลือกว่าจะใช้ระบบประกันสุขภาพเอกชนก่อน หรือเรียกเก็บจากระบบการแพทย์ฉุกเฉิน คาดว่าจะใช้เวลาปรับระบบประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ขึ้น ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน
ส่วนระบบการตรวจสอบอัตราค่ารักษาพยาบาล และการให้ข้อมูลประชาชนนั้น ที่ประชุมให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำเว็บไซต์รวบรวมอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรคที่ต้องมีการนัดผ่าตัดล่วงหน้า จำนวน 77 รายการ ที่ได้จากโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดตาต้อกระจก เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบราคา ทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อนไปรับบริการ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 1 เดือน โดยได้แจ้งให้โรงพยาบาลเอกชนติดป้ายให้ประชาชนสอบถามราคาค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และได้เปิดสายด่วนรับแจ้งปัญหาการรักษาพยาบาลทางหมายเลข 02 1937999 และสายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง และสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 1166 ในเวลาราชการ
- 23 views