“หมออนามัย” เตรียมหย่อนบัตรเลือกตั้ง นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขครั้งแรก ลุ้น 11 มิ.ย. นี้ เปิดตัว 2 ผู้สมัครแข่งขัน “ทัศนีย์ บัวคำ อดีตอุปนายกฯ” เปิดนโยบายสานต่อใบประกอบวิชาชีพศิลปะหมออนามัย หลังผลักดัน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ขณะที่ “ปิ่น นันทะเสน อดีตอุปนายกคนที่ 2” เน้นบริหารต้องมีส่วนร่วม โปร่งใส พร้อมปรับหลักสูตรวิชาชีพสาธารณสุข ต้องทำงาน รพ.สต.ได้
จากการติดตามความเคลื่อนไหวทางเฟสบุ๊ค “สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลการเตรียมการเลือกตั้ง “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” และกรรมการบริหารสมาคม ในวันที่ 11 มิถุนายน 2558 นี้ พร้อมประกาศผลในวันเดียวกัน เพื่อแทนตำแหน่ง นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และกรรมการบริหารชุดเดิม ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 26 สิงหาคม 2558 นี้ ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของสมาคมฯ โดยมีผู้สมัครลงแข่งขัน 2 ทีม คือ 1.ทีม นางทัศนีย์ บัวคำ ภายแนวคิด “กล้านำ กล้าทำ กล้าเปลี่ยน สู่นักสาธารณสุขมืออาชีพ” และ 2.ทีม นายปิ่น นันทะเสน ที่นำเสนอเน้นความเป็นหมออนามัย 100% ภายใต้แนวคิด “สานงานต่อ ก่องานใหม่ หัวใจคือสมาชิก”
นางทัศนีย์ บัวคำ กล่าวว่า สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพสาธารณสุขให้กฎหมายรองรับวิชาชีพ โดยเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนจนประสบผลสำเร็จ และจัดตั้งสภาวิชาชีพ รวมถึงการผลักดันค่าตอบแทน กำลังคนวิชาชีพสาธารณสุข ดังนั้นการทำงานของสมาคมวันนี้ไม่ใช่แค่ระดับปฏิบัติ แต่สามารถนำเสนอแนวทางและขับเคลื่อนได้ ประกอบกันยังมีบทบาทที่ต้องเป็นกรรมการสภาวิชาชีพการสาธารณสุขโดยตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้สถานะของสมาคมฯ เปลี่ยนไป ประกอบกับมีทีมสมัครลงแข่งขันจึงได้เปิดให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิก
ทั้งนี้ในส่วนของทีมที่ลงสมัครเลือกตั้ง โดยเฉพาะในส่วนของตนที่ได้ลงสมัครในตำแหน่งนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกสมาคมฯ เพราะในฐานะที่เคยอยู่ในตำแหน่งอุปนายกและได้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของสมาคมจนประสบผลสำเร็จ และแม้จะไม่ใช่หมออนามัย แต่ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อบังคับผู้ลงสมัคร เพราะเห็นคนที่ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและได้ทำประโยชน์ต่างๆ ตามข้อบังคับ ซึ่งการลงสมัครครั้งนี้ยังเพื่อสานต่อให้หมออนามัยได้รับธงผืนที่สองคือหมออนามัยต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ ที่ไม่เพียงแต่เป็นการรับรองวิชาชีพหมออนามัย แต่ยังเป็นการคุ้มครองประชาชนในการรับบริการ หลังจากได้รับผืนแรกคือ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนไปแล้ว
“การที่อุปนายกคนที่สองได้จัดตั้งทีมและแข่งขันลงเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่ดี และไม่รู้สึกกังวล เพราะทำให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยผู้สมัครแข่งขันซึ่งเป็นอุปนายกคนที่สองได้เคยร่วมผลักดันทำงานด้วยกัน แต่การจะได้สานต่องานที่ทำไว้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมาชิก ทั้งนี้บุคลิกส่วนตัวเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ การลงมือทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้หมออนามัยได้รับการรับรองวิชาชีพจริงๆ” นางทัศนีย์ กล่าว และว่า คงต้องรอดูผลการเลือกตั้งในวันที่ 11 มิถุนายนนี้
ต่อข้อซักถามว่า ในฐานะที่ไม่ใช่หมออนามัย อะไรทำให้สนใจและหันมาร่วมผลักดันวิชาชีพหมออนามัย นางทัศนีย์ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นชีวิตราชการ ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเล็กๆ ใน จ.ปทุมธานี และได้เห็นความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพสาธารณสุข ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่นักวิชาการสาธารณสุขเป็นตำแหน่งที่เปิดให้ทุกวิชาชีพสอบบรรจุได้ แต่ในการบรรจุกลับไม่คัดเลือกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังนั้นจึงมองเห็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการถูกเอาเปรียบจึงอยากทำงานนี้ แม้จะถูกโจมตีก็ตาม
ด้าน นายปิ่น นันทะเสน กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของสมาคมวิชาชีพการสาธารณสุขที่ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง จากที่แต่เดิมเป็นเพียงแค่การยกมือโหวตในที่ประชุมสมาคมฯ เท่านั้น ซึ่งเดิมตนเคยอยู่ในทีมผู้บริหารชุดเดิม แต่ด้วยความเห็นแย้งในเรื่องหลักสูตรวิชาชีพการสาธารณสุข โดยมองว่าผู้ที่จบไปแล้วต้องทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ จึงเห็นควรให้มีการกำหนดการเรียนด้านการรักษาพยาบาล 16 หน่วยกิต แต่นายกสมาคมฯ และอุปนายกคนที่หนึ่งกำหนดเพียงแค่ 3 หน่วยกิต ประกอบกับที่ผ่านมามักไม่มีการรับฟังความเห็นของทีมผู้บริหารด้วยกัน จึงได้แยกออกและรวบรวมทีมเพื่อลงแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้
นายปิ่น กล่าวว่า นอกจากนี้นายกสมาคมฯ ต้องการให้อุปนายกคนที่หนึ่งขึ้นเป็นนายกสมาคมคนต่อไป แต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีวุฒิการศึกษาด้านสาธารณสุข ซึ่งการเป็นนายกสมาคมฯ จะต้องเข้าไปทำหน้าที่กรรมการในสภาวิชาชีพสาธารณสุขด้วย ทำให้เกิดความเป็นห่วงและมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะควรมาจากคนที่เป็นหมออนามัยที่มีความเข้าใจในวิชาชีพอย่างแท้จริง
“ผมมีความเชื่อว่า ตำแหน่งนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงการเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขทั้งมวล ที่ต้องเข้าใจจิตวิญญาณของผู้นักสาธารณสุขซึ่งมีความจำเพาะ ที่บุคคลอื่นที่มิได้ศึกษาด้านนี้จะเข้าถึงได้” นายปิ่น กล่าว
นายปิ่น กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนนโยบายที่จะผลักดันหลังได้รับการเลือกตั้งนั้น คือ 1.สร้างวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ให้เป็นวิชาชีพที่รับใช้สังคมอย่างแท้จริง โดยยึดตัวตนของหมออนามัย หรือกิจกรรมที่ปฏิบัติจริงในการบริการปฐมภูมิ เป็นตัวกำหนดขอบเขตของวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนภายใต้แนวคิด “วิชาชีพ นำ วิชาการ” 2.สนับสนุน ส่งเสริม ให้หมออนามัยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ด้วยช่องทางต่างๆ ที่จะไม่เป็นการขีดกั้นกับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน อยู่ก่อนที่ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ประกาศใช้ เช่น การใช้ประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรมต่างๆ มาเกื้อกูล
3.เสริมสร้างความก้าวหน้าทั้งเรื่องตำแหน่งหน้าที่ ค่าตอบแทนต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมและทัดเทียมกับวิชาชีพอื่นๆ 4.เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุข กำจัดความขัดแย้งต่างๆ อันอาจเป็นสาเหตุของความล่าช้าต่อการดำเนินงานของสภาการสาธารณสุขชุมชน 5.ขับเคลื่อนให้เกิดการตรา พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานระบบบริการปฐมภูมิ
6.จะบริหารสมาคมวิชาชีพการสาธารณสุข ตามแนวทางพระราชกฤษฎีกาการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ได้แก่ หลักนิติธรรม โดยจะแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ เพื่อเป็นเครื่องมือให้การทำงานเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ, แก้ไขระเบียบการเงินให้เกิดการควบคุม ตรวจสอบอย่างแท้จริง ยึดหลักคุณธรรม คือ การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม ความซื่อสัตย์ สุจริต หลักความโปร่งใส โดยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ หลักความมีส่วนร่วม โดยจะไม่กระทำกันตามอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล หลักความรับผิดชอบ ต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่อย่างดียิ่ง และหลักความคุ้มค่า โดยยึดหลักความประหยัดและความคุ้มค่า
- 54 views