นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน เผยอยากเห็นความร่วมมือจากทุกสภาวิชาชีพที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน ด้านโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน เผยผลปัญหาการออกร่างระเบียบข้อบังคับสภาการสาธารณสุขชุมชนที่ถูก 7 วิชาชีพคัดค้านเริ่มคลี่คลาย เตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาลงนาม ชี้แม้ยังต้องสอบถามความคิดเห็นจาก 7 สภาวิชาชีพเพี่อประกอบการพิจารณาด้วย แต่อย่างน้อยถือว่ากระบวนการยังได้เดินหน้าต่อ ต่างจากที่ผ่านมาที่หนังสือวนเวียนผ่านหน้าห้องรัฐมนตรีไปมาไม่เคยถึงมือรัฐมนตรีเสียที
นายไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า ขอขอบคุณ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้เกียรติกับทางสภาการสาธารณสุขชุมชน และเชิญให้ทุกสภาวิชาชีพมาร่วมหารือถึงร่างระเบียบและร่างข้อบังคับ ขณะนี้สภาการสาธารณสุขชุมชนมีสมาชิกมากกว่า 40,000 คน สอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนแล้วกว่า 20,000 คน เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วอยากเห็นความร่วมมือจากทุกสภาวิชาชีพที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน
นายริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยว่า เวทีประชุมร่วมระหว่างสภาการสาธารณสุขชุมชนและ 7 สภาวิชาชีพซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาข้อสรุปในการออกร่างระเบียบข้อบังคับสภาการสาธารณสุขชุมชนที่ถูก 7 วิชาชีพคัดค้านในส่วนของการบำบัดโรค ณ สิ้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่ดี โดยในส่วนของร่างระเบียบข้อบังคับที่ถูกคัดค้าน 3 ฉบับคือ 1. ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดในการบำบัดโรคเบื้องต้น พ.ศ. .... 2. ร่างข้อบังคับสภาการสาธารณสุขชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการตรวจประเมินอาการเจ็บป่วยและการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อการส่งต่อ พ.ศ. .... และ 3. ร่างข้อบังคับสภาการสาธารณสุขชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการตรวจประเมินและการบำบัดโรคเบื้องต้น การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการวางแผนครอบครัว พ.ศ. .... จะถูกนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา พร้อม ๆ กับการสอบถามความคิดเห็นจาก 7 สภาวิชาชีพแนบไปด้วย ส่วนอนุบัญญัติอีก 4 ฉบับที่ไม่เกี่ยวกับการบำบัดโรคแต่ถูกดองไปด้วยนั้น ให้กองกฎหมายดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาโดยเร็วเช่นกัน
นายริซกี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มี นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการประชุม โดยมี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 และผู้แทนจากกองกฎหมายเข้าร่วมประชุมด้วย อย่างไรก็ตามตัวแทนของฝั่ง 7 สภาวิชาชีพนั้น มีเพียงนิติกรจากแพทยสภามาร่วมเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้อีก 6 วิชาชีพ จะไม่ได้มาร่วม และถือว่าให้เกียรติกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพ แต่เวทีนี้เป็นเวทีของการหารือที่กระทรวงเป็นคนกลางเพื่อให้ได้ข้อยุติ จึงถือว่ามติในเวทีนี้ได้ข้อยุติอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น
นายริซกี กล่าวว่า ข้อคัดค้านต่าง ๆ ที่ 7 วิชาชีพคัดค้านก็เป็นข้อคัดค้านเดิมตั้งแต่สมัยที่มีการยกร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ซึ่งผ่านการพิจารณาจากรัฐสภามาแล้ว การใช้ข้อคิดเห็นไปคัดค้าน พ.ร.บ.ที่มีศักดิ์สูงกว่าจึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ข้อคัดค้านของ 7 วิชาชีพนั้นหลายประการไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น บอกว่าหมออนามัยไม่ได้เรียนการบำบัดโรคเบื้องต้นมา ทั้ง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนผลิตเองควบคู่กับพยาบาลภายใต้สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก หรือบอกว่านักสาธารณสุขไม่จำเป็นที่ต้องบำบัดโรคเบื้องต้นแล้ว เพราะมีวิชาชีพอื่นอยู่แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงบริบทหลายพื้นที่ได้พิสูจน์แล้วว่ายังต้องใช้งานหมออนามัยในการบำบัดโรคเบื้องต้นอยู่
แต่อย่างไรก็ตามทุก พ.ร.บ.จะมีการทบทวนทุก 5 ปี หากในอนาคต รพ.สต.พื้นที่ไหนมีอัตรากำลังเพียงพอ มีสหวิชาชีพลงไปทำงานครบก็อาจมีการปรับปรุง พ.ร.บ.วิชาชีพตามสถานการณ์ในอนาคตได้ โดยหมออนามัยก็อาจยุติการทำงานในบทบาทของวิชาชีพอื่น และไปทำงานตามบทบาทหลัก ตามมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนต่อไป
นายริซกี กล่าวว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี โดย นพ.รุ่งเรือง ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “ทุกวิชาชีพก็ทำเพื่อประชาชน ก็ขอให้ Set Zero ความขัดแย้ง และอย่ามองเป็นการทับซ้อน แต่ให้มองเป็นส่งเสริมกันทำงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน การทำงานจึงควรมองประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้งมากกว่า ให้กระบวนการเดินหน้าต่อไป”
ในที่ประชุมมีการพิจารณาร่างระเบียบข้อบังคับสภาทุกฉบับที่ยังตกค้างก็ถูกนำมาพิจารณา อันไหนที่ต้องปรับแก้ก็แก้ในที่ประชุมเลย ขณะที่สภาการสาธารณสุขชุมชนก็ยืนยันว่าขอบเขตการทำงานของหมออนามัยว่าถ้าที่ไหนมีครบทุกวิชาชีพ เราก็ยังมีบทบาทอื่นตามขอบเขตวิชาชีพอีกหลายอย่าง เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคและระบาดวิทยา หรืออาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่านักสาธารณสุขต้องการจะยึดเรื่องการบำบัดโรคเป็นหลักในการทำงานแต่อย่างใด แต่สภาการสาธารณสุขชุมชนต้องการคุ้มครองสมาชิกสภา ที่เป็นนักสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กันดารบางแห่งมีนักสาธารณสุขคนเดียวไม่มีวิชาชีพอื่นเลย
หรือในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีพยาบาลใน รพ.สต.แล้วประมาณ 1 คน แต่นักสาธารณสุขก็ยังต้องบำบัดโรคเบื้องต้นร่วมกัน ยิ่งช่วงรณรงค์ หรือมีนโยบายคัดกรองต่าง ๆ ให้ทันตามกรอบเวลา ทุกวิชาชีพก็ต้องช่วยกัน กรณีการขึ้นเวร ใน รพ.สต.ก็ต้องมีการสลับกันในแต่ละวิชาชีพ เพราะพยาบาลจะขึ้นเวรตลอดทั้งเดือนคงไม่ไหว กรณีพยาบาลติดประชุมหรือลา นักสาธารณสุขก็ต้องช่วยกันดูแลสุขภาพประชาชนด้วยการบำบัดโรคเบื้องต้นได้
การทับซ้อนไปมาระหว่างวิชาชีพมีเป็นปกติ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าวิชาชีพใดมีบทบาทเป็นบทบาทหลัก ยกตัวอย่างพยาบาลก็จ่ายยาได้ เจาะเลือดได้ ส่วนแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ ก็ไม่สามารถลงไปรักษา จ่ายยา เจาะเลือดที่ รพ.สต.ด้วยตนเอง นักสาธารณสุขจึงยังคงต้องทำในบทบาทการบำบัดโรคเบื้องต้นต่อไป
แต่ที่หมออนามัยข้องใจ ก็คือในส่วนสัตวแพทย์ ทันตแพทย์ และกายภาพบำบัด ที่ลงนามคัดค้านด้วย ทั้งที่บทบาทนักสาธารณสุขไม่เคยไปทับซ้อน ก็เป็นข้อสังเกตว่า ลงนามตาม ๆ กันมาโดยไม่พิจารณาให้ดีก่อนหรืออย่างไร
"ตอนนี้ปัญหาในเรื่อง 7 วิชาชีพน่าจะคลี่คลายลง ถือเป็นข่าวดีของหมออนามัยที่ไม่ต้องยุติบทบาทการทำงานในบางงานที่ถูกกล่าวหาว่าก้าวล่วง ทับซ้อน โดยการเสนอร่างระเบียบข้อบังคับจะดำเนินการทั้ง 2 ทางคือเสนอรัฐมนตรีด้วยและสอบถามความคิดเห็นของ 7 วิชาชีพว่ามีประเด็นใดที่ต้องการแก้ไขโดยไม่ขัดกับ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข 2556 เพี่อประกอบการพิจารณาด้วย แต่อย่างน้อยถือว่ากระบวนการก็ยังได้เดินต่อ ต่างจากที่ผ่านมาที่หนังสือวนเวียนไปมา ไม่เคยถึงมือรัฐมนตรี ส่วนหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณา" นายริซกี กล่าว
- 68 views