นสพ.ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “พล.อ.อนันตพร” ประธาน คตร. มีส่วนหนึ่งพูดถึงผลการตรวจสอบ สปสช. ที่ พล.อ.อนันตพร ระบุว่า จากการตรวจสอบไม่ได้เป็นความผิดเรื่องทุจริต แต่ผิดวัตถุประสงค์ ก็ต้องชี้แจงกันมา ซึ่ง คตร.กำหนดให้ สปสช.ชี้แจงภายใน 15 มิ.ย.นี้ และคาดหวังว่า หากประเด็นต่างๆ ได้รับการแก้ไข เงินที่ไม่ควรจะจ่ายเงินในกองทุนหลักประกันก็จะลดลง และทำให้เงินถึงมือ รพ.มากขึ้น
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน หลายโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกบรรจุไว้ในบัญชีดำของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ที่มี "บิ๊กโย่ง"-พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นหัวเรือใหญ่ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนที่ 29 อีกตำแหน่ง ขึ้นลงตึกไทยคู่ฟ้า กับห้องทำงานบนตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
ในบทบาท "รุ่นน้อง" เตรียมทหารรุ่นที่ 15-"ตัวช่วย" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยควบเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก-ประธานสโมสรฟุตบอลอาร์มี่ยูไนเต็ด ในบทบาท ผู้จัดการทีมทั่วไป
ประกอบกับเส้นทางราชการอยู่ในสายงานตรวจสอบบัญชีในสำนักงานปลัดบัญชีทหารบก จนก้าวขึ้นเป็น "ปลัดบัญชีทหารบก" ในยศ "พลโท" จึงได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น "Special Task Force" เรื่องการตรวจสอบคอร์รัปชั่น
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์
"พล.อ.อนันตพร" เปิดฉากฉายภาพภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายในห้วงแรกของการบริหารงานของ คสช.ว่า โครงการที่เกินพันล้าน คตร.เข้าไปดูหมด พยายามจะลดราคา โดยใช้วิธีส่ง คตร.ไปดูเวลาประกวดราคา ไปสังเกตการณ์ ไปต่อรองราคา ทำทุกอย่าง เขาก็ลดราคาให้ ก็เหมือนกับเราไปต่อรองราคา ถ้าลดแล้วก็ลดอีก อย่าเอากำไรมาก เอากำไรแค่พอประมาณ บริษัทพออยู่ได้ บริษัทมีกำไรที่เหมาะสม ผู้ถือหุ้นพอใจเท่านั้นเอง ถ้าเกิดสมัยก่อนตั้งเผื่อไว้ก็ลดลงมาเยอะ ๆ
"ตอนนี้ คตร.มีงานใหญ่ ๆ รออยู่อีกมาก คตร.จึงต้องตรวจสอบภายใต้หลักเกณฑ์ 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง มีการร้องเรียน สอง เจ้ากระทรวงให้ไปตรวจ สาม ท่านนายกฯ สั่งการ และสี่ คตร.มีมติ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการร้องเรียน คตร.ก็ต้องตรวจสอบว่ามีมูลหรือไม่ คนร้องเรียนมีชื่อ มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อหรือไม่ แล้วเรียกมาคุยจึงจะสามารถไปตรวจได้ เราไม่ได้ตรวจทุกโครงการ ผมตรวจไม่มากหรอก 10-20 เปอร์เซ็นต์เอง แต่ที่ตรวจเยอะๆ คือ งบประมาณปี '57 ซึ่งมีจำนวนเป็นแสนล้านบาท เพราะปี '57 เข้ามาก็รีบตรวจๆ เพราะเงินที่เข้ามาไม่มีรายการ ต้องรีบใช้ อันไหนที่ไม่โปร่งใสก็ต้องชะลอ ต้องหยุด"
ถึงแม้ว่า คตร.จะถือกำเนิดจากอำนาจพิเศษ-อำนาจของ คสช. แต่ พล.อ.อนันตพรก็กังวลว่าในภายภาคหน้าอาจต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาลเช่นกัน "ที่สำคัญเมื่อร้องมาก็ต้องมีข้อมูลนะ ไม่งั้นก็จะถูกฟ้องแทน เพราะฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรม ตอนนี้ทุกคนใจร้อน งานตอนนี้ตรวจไม่ทัน งานมันเยอะมาก จึงต้องจัดระบบของงาน บางอย่างเราก็ให้กระทรวงตรวจแล้วมารายงาน คตร. ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกเรื่อง ไม่งั้นก็กลายเป็นว่าผู้ตรวจกระทรวงไม่ต้องทำงานสิ ใช่ไหม บางส่วนเราก็ตรวจและส่งไปให้กระทรวงรายงานกลับมา เราพอใจก็จบ ไม่พอใจก็ไปตรวจซ้ำ"
สำหรับโครงการที่ คตร.เป็นทั้งผู้สาด-ผู้ถูกฉายจับแสงสปอตไลต์ใส่ในมือ พล.อ.อนันตพร ขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการใหญ่ ได้แก่ การตรวจสอบรายชื่อข้าราชการที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ร่วมกับ ศอ.ตช.ก่อนจะส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์
"พล.อ.อนันตพร" เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำว่า รายชื่อข้าราชการทุจริตลอตที่สอง ถูกดำเนินการคัดกรองของ ศอ.ตช.ก่อนส่งถึงนายกรัฐมนตรี หลังจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. และ สตง. ส่งรายชื่อมา ขั้นตอนในการตรวจสอบของ ศอ.ตช. คือ อาศัยเสียงส่วนใหญ่ ถ้ามีเสียงเดียวที่เห็นด้วยและตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่ก็เอาออกไป
"เรื่องที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบเนี่ย ไม่ใช่ตั้งประเด็นขึ้นมาให้ดูดีนะ (เน้นเสียง) แต่ทำจริง ให้เกิดผลอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาแล้ว เออ...เดี๋ยวก็ออกแล้ว อยู่ไม่นานหรอก เฮ้ย ไม่ใช่ เดี๋ยวก็ต้องส่ง...คือ ทำแล้วส่งชื่อ การพิจารณาว่าจะลงโทษระดับไหนอยู่ที่ผู้พิจารณา อาจจะทีมงานท่านนายกฯ ทีมกฎหมาย ที่ต้องดูข้อกฎหมาย ดูข้อมูล ขั้นตอนมันมี โดยหลังจากนี้รายชื่อจะทยอยเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป"
อีกเรื่องคือการตรวจการใช้จ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่ง คตร.มีการพิจารณาตรวจสอบการทำงานของ สปสช. โดยแต่ละประเด็น สปสช.ต้องชี้แจงและเสนอกลับ คตร.ภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้
"พล.อ.อนันตพร" ขยายความในประเด็นที่ตรวจสอบว่า คตร.มีประเด็นที่ไปตรวจมา คือ สปสช. บทบาทให้อำนาจคณะกรรมการบริหารเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ความรวดเร็วในการทำงาน เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งคณะกรรมการอาจจะใช้อำนาจเกินวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้การบริการสาธารณสุขประชาชน...ที่ตั้งการบริการไว้ที่หัวละ 2,895 บาท ซึ่งกว่าจะไปถึงประชาชนอาจจะมีค่าบุคลากร ค่าดำเนินการโน่น นี่ ทำให้ประชาชนได้บริการที่แท้จริงไม่ถึงค่าบริการต่อหัวที่ตั้งไว้
"เราจึงพยายามให้ใช้เงินในเรื่องอื่นให้น้อยและเงินถึงประชาชนให้มาก เพราะถ้าถึงประชาชนน้อยจะเกิดอะไรขึ้น โรงพยาบาลที่รักษาพยาบาลก็ได้เงินน้อย พอเงินถึงโรงพยาบาลน้อย จากที่โรงพยาบาลคาดหวังว่าจะได้ค่าบริการสัก 2,800 บาท โรงพยาบาลก็ขาดทุน พอขาดทุนเขาก็ไม่อยากรักษา ก็อาจจะปฏิเสธ หรือรักษาด้วยยาไม่มีคุณภาพ เพราะธุรกิจเขาก็แย่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหา แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของการตรวจสอบนะ เป็นปัญหาของเชิงระบบ"
"พล.อ.อนันตพร" คาดหวังว่า หากประเด็นต่างๆ ได้รับการแก้ไข เงินที่ไม่ควรจะจ่ายเงินในกองทุนหลักประกันก็จะลดลง ซึ่งประเด็นการตรวจสอบไม่ได้ระบุตัวบุคคล ตรวจสอบแต่เชิงระบบ ระบุแต่ประเด็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ว่ามีการอนุมัติรายการถูกต้องไหม ถ้าผิดก็ต้องลงโทษ เรียกเงินคืน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่ได้เป็นความผิดเรื่องทุจริต แต่ผิดวัตถุประสงค์ ก็ต้องชี้แจงกันมา
และเรื่องสีเทาในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค.ที่ คตร.สรุปส่งไปตรวจสอบต่อและแจ้งความฟ้องร้องไปตามขั้นตอนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว
"ทีนี้ต่อไปจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการ เสนอแนะ คือ เมื่อเราตรวจเสร็จเราก็จะเสนอแนะมาตรการระยะกลาง ระยะยาว จะทำอย่างไร ก็คล้ายๆ กันกับการตรวจสอบโครงการอื่นๆ เช่น ให้อำนาจมากเกินไปไหม ให้อำนาจมากไปก็ลดหน่อย หรือคณะกรรมการบางคนอยู่มานานเกินไปควรจะลดบ้างไหม เราก็เสนอไป แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง"
"ต้องทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ก็เหมือนกับระบบใหม่ คือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding (อีบิดดิ้ง) และวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Market (อีมาร์เก็ต) ถ้าเกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเราก็ไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบหรอก ทุกคนก็ลดเอง"
"เพราะฉะนั้นขณะนี้ คตร.พยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยในการป้องกันการทุจริตในระยะยาว คือ ถ้าผมมองว่าผมเป็นเพียงคตร. ผมก็เพียงแค่ตรวจ ๆ ๆ แล้วถ้าผมไม่ตรวจก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นต้องสร้างระบบขึ้นมา พอตรวจไปๆ ก็ต้องคิดว่าระบบอะไรมันเหมาะ เราก็เสนอเข้าไป หรือใครคนอื่นเขาเสนอมาเราก็ เออ เห็นด้วยนะ ระยะยาวมันก็จะดีขึ้น ไม่งั้นมันก็เป็นอย่างนื้ ต้องมานั่งตรวจ ๆ ๆ ถ้าทำให้เลิกตรวจได้จะดี หรือตรวจเฉพาะเหลือขอจริงๆ ดีกว่า ถ้าตรวจทุกโครงการไม่ไหวหรอก"
"พล.อ.อนันตพร" ออกตัวว่าการทำงานของ คตร.ไม่ได้ไปไล่ล่า-จับผิดใคร เพราะเมื่อ คตร.เข้าไปตรวจสอบและเจอปัญหาอะไรจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาไปด้วย ไม่ใช่ตรวจ ๆๆ ลงโทษ ตรวจ ๆๆ ลงโทษ มันไม่มีประโยชน์อะไร อีกหน่อยก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น อย่างนี้ คตร.ก็ตั้งถาวร ไม่ต้องไปไหนเลย
"การตรวจสอบของ คตร.เป็นการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ ผมทำงานในเชิงให้มาชี้แจงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ให้เขาปรับลดราคาลง ให้เขาแก้ไข หลายๆ อย่างเขาแก้ได้เยอะ ผมคิดว่าผมลดการใช้เงินงบประมาณได้เป็นแสนล้าน ถ้าเขาไม่แก้ไข แล้วเราเข้าไปตรวจสอบพบ ก็ต้องรายงานอธิบดีหรือเจ้ากระทรวงให้ลงโทษ"
ถึงแม้ว่า พล.อ.อนันตพรจะถูกแสง สปอตไลต์ฉายจับ ในฐานะที่สวมหัวโขนทำงานให้หัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร-ตุลาการ-นิติบัญญัติ ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้
แต่เขากลับใช้ชีวิตแบบลับ ๆ ทำตัวแบบโลว์โปรไฟล์ อยู่ในเซฟเฮาส์ ทำงานใหญ่ ข้างกาย พล.อ.ประยุทธ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 - 10 มิ.ย. 2558
- 19 views