กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อม 6 มาตรการ ในการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 วินิจฉัยผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด ย้ำ โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคทุกภารกิจ หากป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อผลในการป้องกันควบคุมโรค
วันนี้ (4 มิถุนายน 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ให้ดำเนินการ 6 มาตรการหลัก ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและคัดกรองผู้เดินทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีด่านเข้าออกระหว่างประเทศ เช่น สนามบิน ให้แจ้งเตือนผู้เดินทางที่มีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก หากมีประวัติการเดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ เช่น ทางตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดิอาระเบีย กาต้าร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรต เกาหลีใต้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อส่งตรวจที่โรงพยาบาลในพื้นที่อย่างละเอียด ประการสำคัญที่สุดจะต้องตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยปอดบวมรุนแรง ผู้ป่วยที่ป่วยพร้อมกันหลายคน กลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครอบครัวที่มีผู้ป่วยในบ้านและมีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และผู้ที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลางในทุกภารกิจ
2.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งติดป้ายแจ้งเตือนผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ ที่แผนกผู้ป่วยนอกและจัดจุดบริการเบ็ดเสร็จหรือทางด่วน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ภายใน 14 วันให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยเชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่งทั่วประเทศ รู้ผลภายใน 5-8 ชั่วโมง จัดเตรียมห้องแยกที่มีความดันเป็นลบในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในข่ายสงสัย และกำชับบุคลากรให้ยึดมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด 3.ให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างรวดเร็ว 4.ดำเนินการตามแนวทางการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ทันที เมื่อได้รับรายงานผู้ต้องสงสัยว่าป่วยจากโรคนี้ 5.ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อการป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนก โดยประชาชนสามารถโทรปรึกษาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง และ6.ให้ทุกจังหวัดดำเนินการดูแลสุขภาพฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และกาฬหลังแอ่น ตลอดจนให้ความรู้ในการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพเบื้องต้นในผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศที่มีการระบาด
นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ปรับมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 โดยนำบทเรียนของประเทศเกาหลีใต้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย จุดเน้นหนักคือ ต้องวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้เราสามารถป้องกันควบคุมเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด ไม่แพร่กระจายในวงกว้าง โดยจะมีการประเมินสถานการณ์และประชุมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มมาตรการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งไทยมีมาตรการป้องกันโรคนี้มานานกว่า 3 ปี และปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกันป้องกันโรค โดยหมั่นล้างมือฟอกสบู่ ชำระเชื้อโรคออกจากมือให้ได้มากที่สุด ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากต้องไปยังที่ชุมชนให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่โรค หากมีอาการป่วยหลังเดินทางออกจากพื้นที่ที่มีโรคระบาดใน 14 วัน คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านและแจ้งการเดินทางมาจากประเทศใด ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมระบบการดูแลไว้พร้อมแล้ว
- 3 views