อดีตกรรมการสิทธิฯ ยันล้างไตช่องท้อง ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย ชี้เป็นนโยบายทางเลือกแรกที่ไม่บังคับ มีจุดเด่น หลายประการ คุณภาพชีวิตดีกว่า ไม่ต้องเดินทาง ค่าใช้จ่ายไม่แพง
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย เพราะถือเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy) แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องได้ เช่น เคยผ่าหน้าท้องมาแล้ว หรือ ทำแล้วมีโรคแทรกซ้อนแล้วทำต่อไม่ได้ ก็สามารถเปลี่ยนมาฟอกเลือดแทน ตรงนี้จึงยืนยันว่า ไม่ละเมิดผู้ป่วย
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อดีของการล้างไตหน้าท้อง คือ 1 ไม่ต้องเดินทางไปถึงที่โรงพยาบาล เพราะถ้าเป็นผู้สูงอายุจะต้องฟอกเลือดมากสุดสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะมีค่าเดินทางสูง 2. ผู้ป่วยสูงอายุที่หัวใจไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงต่อการฟอกเลือดเนื่องจากการล้างเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องเอาเลือดออกมาครั้งละ 2-3 ลิตร แล้วฟอก แล้วเอาเลือดกลับคืนร่างกาย จากนั้นเอาน้ำที่ใส่ไปข้างในร่างกายออกมาข้างนอก ทั้งหมดทำให้ ปริมาณเลือดในร่างกายถูกดึงออกอย่างรุนแรง แต่ถ้าล้างช่องท้องจะไม่มีลักษณะอย่างนี้ วิธีการจะธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากคนหนุ่มที่เป็นโรคไตวาย ถ้ารักษาด้วยการฟอกเลือดอาจใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง
3.ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดสูง ต่อให้มีเงินมากพอก็ยังมีปัญหาไม่จบ ไม่เท่านั้นญาติต้องพามา และต้องขาดงาน 4.ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีเครื่องฟอกเลือดไม่พอเฉลี่ยไม่ถึง 10 เครื่อง แต่ละวันก็ฟอกได้ 3-4 รอบ แต่การล้างหน้าท้องมาทำที่บ้านเองไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในการรักษา
“มันเป็น pd first ซึ่งในทางนโยบายกว่าจะตัดสินเรื่อง pd first ก็คุยกันยาวนาน มีการปรึกษา เปรียบเทียบ มีขัอมูลมทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ที่ฮ่องกงก็ใช้ระบบนี้ หรือที่อินโดนีเซีย มีเกาะจำนวนมาก และมีไม่กี่ที่มีเครื่องฟอกไต เขาก็ใช้ระบบนี้ แต่ถ้าล้างด้วยหน้าท้อง ทำที่บ้าน หลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาทำได้ แม่ผมก็ยังใช้ ตอนนี้อายุ 87 ปี ฟอกมา 15 เดือนแล้ว ใช้สิทธิ์ข้าราชการ มีสิทธิ์เลือกฟอกเลือด แต่ผมยังเลือกให้ล้างทางช่องท้อง ทั้งหมดนี้จะแนวทางไหน ก็แล้วแต่วัย แล้วแต่คน มีข้อดีข้อเสีย เลือกเอาได้ แต่การให้ทำ pd first นั้น ไม่ได้ละเมิดสิทธิแน่นอนเพราะได้รับบริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน”
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหมออาวุโสยังปรับตัวไม่ได้กับการใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องเพราะไม่คุ้นชินจึงไม่ชอบ อีกทั้งต้องมีกระบวนการไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ซึ่งในกรุงเทพ ช่วงแรกไม่มีหมอยอมฟอกเลือดทางหน้าท้อง เพราะมีปัญหาเรื่องการติดตามดูผู้ป่วย แต่ต่างจังหวัดมีโดยเฉพาะระบบพยาบาลครอบครัว อย่างไรก็ตาม ระบบการล้างไตทางช่องท้องมีโดดเด่นหลายที่ เช่น หนองคาย พระนครศรีอยุธยา หรือที่ รพ.บ้านแพ้ว ก็เคยมาช่วยตั้งสาขาล้างไตหน้าท้องที่สุขุมวิทมาแล้ว
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ที่พูดกันมากว่า ล้างไตทางหน้าท้องติดเชื้อง่ายกว่าความจริงก็ทั้ง 2 แบบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การทำความเข้าใจ บุคลากรทางสาธารณสุขต้องให้ข้อมูลครบทั้ง 2 ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเขาอาจจะยังไม่คุ้นชินเพราะเคยทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น
- 55 views