“หมอคลินิกชุมชนอบอุ่น” ห่วง “คุมค่ารักษา รพ.เอกชน” กระทบผู้ป่วย เหตุทำหมอกังวลนั่งคุมค่าใช้จ่าย ชี้ควรปล่อยวินิจฉัยรักษาตามหลักการแพทย์ เพื่อผู้ป่วยรับการรักษาที่ถูกต้อง ระบุหากเปรียบราคารักษาแพงต้องเทียบ “รพ.บ้านแพ้ว- รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” พร้อมแนะภาครัฐควรเร่งเพิ่มคุณภาพการบริการในระบบบัตรทอง-รพ.รัฐ มากกว่า
นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้ประสานงานคลินิกชุมชนอบอุ่น เขตกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอจัดตั้งกลไกเพื่อควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากความเห็นของคนส่วนหนึ่งซึ่งมองว่า ราคาค่ารักษา รพ.เอกชนวันนี้ไม่สมเหตุสมผลและมีราคาที่สูงเกินจริงนั้น ในความเห็นตนมองว่า การดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ยังต้องผูกกับเรื่องกำไรขาดทุนและตลาดในการดำเนินการ อีกทั้งธุรกิจ รพ.ยังแตกต่างกับธุรกิจอื่นทั่วไป เพราะเมื่อผู้ป่วยเดินเข้ารับบริการรักษาโรคที่ รพ. ไม่ใช่ว่าคนไข้จะเป็นผู้สั่ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ที่ต้องใช้หลักวิชาการแพทย์ในการรักษาตามความเหมาะสมกับภาวะอาการและโรคที่เกิดขึ้น ปัญหาคือเมื่อมีการควบคุมราคาค่ารักษาที่เป็นการแทรกแซง จะส่งผลให้ รพ.เอกชน ต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาตามมาเพื่อไม่ให้เกินราคาที่กำหนด ส่วนแพทย์เองก็อาจไม่สั่งตรวจวินิจฉัยภาวะอาการที่สงสัยเพิ่มเติมเพื่อควบคุมค่ารักษา ขณะที่ต้องรับความเสี่ยงจากการถูกฟ้อง และในที่สุดก็อาจลาออก หากเป็นแบบนี้ต้องถามว่า แล้วสุขภาพประชาชนจะอยู่ตรงไหน
“อย่างกรณีคนไข้ปวดท้องมา รพ. ซึ่งในหลักวิชาการทางการแพทย์ต้องแยกอาการปวดที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารและโรคนิ่ว และหากผู้ป่วยปวดท้องขวาบนต้องทำอัลตร้าซาวด์ แต่ต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3,500 บาท แต่เมื่อมีการควบคุมค่ารักษาเพื่อไม่ให้สูงเกินไป ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาโรคตรงนี้ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ป่วยเอง จึงควรปล่อยให้การรักษาเป็นไปตามหลักวิชาการแพทย์โดยเสรี แทนที่จะทำให้แพทย์เกิดทัศนคติที่ต้องคอยควบคุมค่ารักษา และต้องรับความเสี่ยงจากการถูกฟ้องอีก” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวและว่า ในการรักษาต้องเป็นไปตามหลักวิชาการแพทย์ ไม่ว่าประเทศใดก็ต้องทำแบบนี้
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กรณีการแทรกแซงราคารักษาพยาบาลที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นกับ รพ.ภาครัฐมาแล้ว จากการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม ซึ่งได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาของโรงพยาบาล ทำให้เกิดปัญหาและกำลังเกิดขึ้นกับ รพ.เอกชน แม้ว่าที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีการวิเคราะห์เชิงบวกว่าเป็นระบบที่ดี แต่ในข้อเท็จจริงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริการที่เป็นแทรกแซงการรักษาเพื่อให้งบประมาณเพียงพอจึงส่งผลต่อคุณภาพบริการ ดังนั้นจึงไม่ควรแทรกแซง รพ.เอกชน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทั้งนี้ รพ.เอกชน ปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ รพ.ที่รับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคมและผู้ป่วยจ่ายเงินเอง กับ รพ.ที่รับผู้ป่วยจ่ายเงินเองกับประกันสุขภาพของภาคเอกชน
อย่างไรก็ตามหากจะดูว่าค่ารักษา รพ.เอกชนแพงหรือสูงเกินไปหรือไม่ ควรเปรียบเทียบกับ รพ.ภาครัฐที่ออกนอกระบบและบริหารเช่นเดียวกับเอกชน อย่างที่ รพ.บ้านแพ้ว และ รพ.โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยดูว่าราคาบริการต่างจาก รพ.เอกชนหรือไม่ อีกทั้งการกำหนดราคากลางค่ารักษามีได้ แต่ไม่ควรบังคับหรือควบคุม แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามหลักทางการแพทย์ และเป็นทางเลือกของประชาชน ซึ่งบางคนเลือกที่จะจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวก นัดพบแพทย์ได้เลย และไม่ต้องรอคอย ทั้งนี้มองว่าแทนที่รัฐจะหันมาทำในเรื่องนี้ ควรทำเรื่องการเพิ่มคุณภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดึง รพ.เอกชนเข้าร่วมระบบ ในการให้บริการเพิ่มเติม
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในการเข้ารับการรักษา รพ.เอกชน ในส่วนของค่ารักษานั้น แพทยสภามีประกาศอยู่แล้ว อย่างราคาค่าห้องมีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท ไม่ต่างจากห้องพักในโรงแรม ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็ควรใช้กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ว่าเป็นบริการที่เหมาะสมกับราคาหรือไม่ แต่ไม่ควรเข้าไปควบคุมในส่วนค่ารักษาที่อาจกระทบต่อมาตรฐานการรักษาได้
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้เรื่องการควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน ยังเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพราะเรามีคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาที่ประเทศไทยจำนวนมากส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งหากข่าวการควบคุมราคา รพ.เอกชน กระจายไป อาจทำให้เกิดความกังวลต่อคุณภาพได้ และที่ผ่านมาผู้ป่วยต่างชาติที่บินมารักษาที่ประเทศไทยเพราะค่ารักษาที่ถูกกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นแทนที่จะควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน ที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง แต่ควรที่จะหันเพิ่มประสิทธิภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า
- 652 views