สธ.รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน ไข้หวัดใหญ่ ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 9 กลุ่ม รวม 6.4 ล้านคน ทั่วประเทศ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงสูง 3.4 ล้านคน ย้ำกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ควรฉีดทุกคน ส่วนวัคซีนโรคหัด/หัดเยอรมันจะฉีดเด็กที่อายุต่ำกว่า7 ปี ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเข็มที่ 2 ประมาณ 3 ล้านคน ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ฟรีทุกสิทธิ์! ที่โรงพยาบาลของรัฐ
วันนี้ (8 พฤษภาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ริชชาร์ด บราวน์(Dr. Richard Brown)ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว การรณรงค์ให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด – หัดเยอรมัน แก่เด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน – 7 ปี และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2558 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยและมีอาการรุนแรงหลังติดเชื้อ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2 ชนิด ให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงอันตรายหลังติดเชื้อ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เนื่องจากขณะนี้ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พบโรคนี้สูงที่สุด และโรคนี้ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม ตั้งเป้าฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 8 กลุ่มจำนวน 3.4 ล้านโด๊สฟรีทุกสิทธิการรักษา ประกอบด้วย 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว 7 โรคได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอ ไตวาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 7.โรคอ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป และ8.บุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทำลายสัตว์ปีกโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนวัคซีนฉีดให้ประชาชน 3 ล้านโด๊ส ส่วนกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขกรมควบคุมโรคจัดซื้อ 4 แสนโด๊ส
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งควรเข้ารับการฉีด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและลดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนได้ ผลการวิจัยพบว่าหญิงมีครรภ์ ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการป่วยรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า ในปี 2557 ประชาชน 2กลุ่มนี้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเพียงร้อยละ 1 ซึ่งต่ำกว่าทุกกลุ่ม วัคซีนที่ฉีดในปีนี้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ที่พบมากในไทยและทั่วโลก โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2558 ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
วัคซีนชนิดที่ 2 ได้แก่วัคซีนป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นวัคซีนรวมในเข็มเดียวกัน สำหรับเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน – 7 ปี และยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเข็มที่ 2 ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยพบได้ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคหัด เนื่องจากระดับภูมิต้านทานในร่างกายไม่เพียงพอ หลังจากที่เคยรับวัคซีนเข็มแรกในช่วงอายุ 9 เดือน ถึง 1 ขวบ ขณะนี้เด็กไทยมีอัตราครอบคลุมวัคซีนป้องกันโรคหัดสูงกว่าร้อยละ 96 จำนวนผู้ป่วยจึงลดลงมากปีละไม่ถึง 2,000 ราย ไม่มีเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ารณรงค์กำจัดโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 ต่อประชากรล้านคนหรือประมาณ 66 ราย ภายในพ.ศ.2563 ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก และจัดทำเป็นโครงการถวายแด่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558 โดยฉีดให้เด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2555 ฟรี ตั้งแต่พฤษภาคม - กันยายน 2558 ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 เมษายน 2558 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมทั่วประเทศ 24,797 ราย เสียชีวิต 20 ราย จำนวนผู้ป่วยในรอบ 4 เดือน มีประมาณ 1ใน3 ของผู้ป่วยตลอดปี 2557 ที่มีสะสมทั้งหมด 74,065 ราย เสียชีวิต 86 ราย ภายหลังจากประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่พ.ศ.2551 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ หากประเทศไทยไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน จะพบผู้ป่วยทั้งประเทศปีละ 700,000 – 900,000 ราย และมีผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมร้อยละ 2.5 ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละ 12,575 – 75,801 ราย ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 913 – 2,453 ล้านบาทต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการรักษาพยาบาล
สำหรับสถานการณ์โรคหัดและหัดเยอรมัน ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2558 มีรายงานผู้ป่วยโรคหัด 255 ราย หัดเยอรมัน 41 ราย ส่วนในปี 2557 พบผู้ป่วยโรคหัด 1,184 ราย หัดเยอรมัน 152 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตทั้ง 2 โรค อันตรายของโรคหัดเยอรมัน หากเป็นในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ปัญญาอ่อน ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ ซึ่งอาจเกิดร่วมกัน หรือเกิดเพียงอย่างเดียวก็ได้
- 16 views