รมว.สธ.ลงนามในหนังสือเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป พร้อมตั้งคณะกรรมการติดตามผลกระทบกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ พร้อมเร่ง 8 กรมวิชาการจัดทำคู่มือการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย 14 ฉบับ อาทิ การขึ้นทะเบียนยาตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก การพิจารณาออกใบอนุญาตผู้ประกอบการ สนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ให้เสร็จใน 2 เดือน
วันนี้ ( 8 พ.ค. 58) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ว่า วันนี้ได้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในกำกับ ในภาพรวมการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังได้ติดตามความหน้าเรื่องการออกฎหมาย ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ร่างพระราชบัญญัติยา ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น หลายฉบับคืบหน้า โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติควบคุมบุหรี่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ป้องกันเยาวชนสูบบุหรี่ หลายประเด็นเป็นข้อห่วงใยของบางฝ่าย เช่น ผลกระทบเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ร่วมกันทบทวนอย่างรอบคอบ ล่าสุดผ่านการเห็นชอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้ลงนามในหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุในวาระประชุมเพื่อให้ครม.เห็นชอบในหลักการ และส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
ในส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ได้วางระบบแก้ไข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะตั้งคณะกรรมการร่วม 1 ชุด มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เป็นประธานเพื่อประเมินและติดตามผลกระทบและวางระบบการเยียวยา แต่จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่มีกฎหมายบุหรี่ลักษณะเดียวกับประเทศไทย ยังไม่ปรากฏผลกระทบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเร่งสนองนโยบายรัฐบาลที่ออกกฎหมายพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้เป็นไปตามกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 14 ฉบับ รวม 8 กรม อาทิ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่วนใหญ่อยู่ที่ อย.ทั้งหมดต้องจัดทำคู่มือการปรับปรุงขั้นตอนดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ถือเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบราชการในการสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆ เช่น การจดสิทธิบัตรยา การขึ้นทะเบียนยา ขณะนี้ทำได้แล้วร้อยละ 97 คาดว่าจะแล้วเสร็จทันสิ้นเดือนมิถุนายน 2558
- 3 views