สธ.เผยอาการอักเสบจากพิษด้วงก้นกระดก ไม่ได้รุนแรงน่ากลัวตามที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ข้อควรระวัง เมื่อพบด้วงชนิดนี้ อย่าตีหรือบดขยี้ เพราะอาจถูกสารพิษทำให้ผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลพุพอง รายที่แพ้รุนแรงอาจมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หากพิษเข้าตาอาจตาบอดได้ แนะวิธีแก้ไข หากถูกพิษ ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหรือใช้แอมโมเนียเช็ดออกจะช่วยบรรเทาอาการได้
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเป็นภาพตัวด้วงกระดกและภาพอาการแพ้ผิวหนังรุนแรง ทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้พุพองจนเสียโฉม โดยระบุว่าเป็นพิษของตัวด้วงก้นกระดกว่า ข่าวที่ปรากฏนี้ หากหลายคนอ่านแล้ว อาจจะตกใจเรื่องตัวด้วงก้นกระดก ซึ่งแท้จริงแล้วการอักเสบผิวหนังจากพิษด้วงชนิดนี้ ไม่ได้รุนแรงน่ากลัวเหมือนที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะผู้ที่สัมผัสกับด้วงชนิดนี้ ส่วนมากเป็นแผลอักเสบเล็กน้อยเท่านั้น แต่ข้อควรระวังก็คือ เมื่อพบแมลงชนิดนี้ อย่าตีหรือบดบี้ เพราะอาจได้รับสารพิษที่อยู่ในตัวแมลงได้ ดังนั้นหากผู้ที่ได้รับข้อมูลนี้ทางโซเชียลมีเดีย ขอให้ช่วยกันให้ข้อมูลความรู้ให้ถูกต้อง
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ด้วงก้นกระดก เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ โดยทั่วไปด้วงชนิดนี้จะไม่กัดหรือต่อยคน แต่ในกรณีที่ด้วงตกใจ หรือถูกตี ถูกบีบ บดขยี้ ด้วงจะปล่อยน้ำพิษที่ชื่อว่า เพเดอริน(Paederin) ออกมาเพื่อป้องกันตัว พิษส่วนใหญ่จะมีในด้วงตัวเมีย สำหรับผู้ที่โดนพิษด้วงกระดก จะทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่สัมผัส โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อน เกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง การอักเสบอาจขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ด อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายใน 7-10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วงก้นกระดก หรือเรียกว่าด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน (Rove beetle) จะมีลำตัวเป็นเงามัน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับสีส้ม มักจะงอท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ปกติจะอาศัยอยู่ในบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟตามบ้านเรือนตอนกลางคืน พบได้ประปรายตลอดปี มักพบมากในช่วงฤดูฝน ด้วงชนิดนี้พบได้ทั่วโลก มากที่สุดที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมีถึง 3,100 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 20 ชนิด
ในการป้องกันพิษจากด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเปิดไฟในช่วงกลางคืนเท่าที่จำเป็น ก่อนนอนให้ปัดที่นอน หมอน ผ้าห่มหรือเครื่องใช้ต่างๆ ก่อน โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว และหากถูกพิษของด้วง ให้ล้างพิษด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือใช้แอมโมเนียเช็ด และควรไปพบแพทย์
- 116 views