หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว
อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน
จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา
จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !
ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ
ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน
ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 4 ฝ่ายปฏิบัติชี้ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนต้นแบบ แนะเพิ่มคน-งบ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติย้ำอย่าเพิ่งหวังผลตัวชี้วัดนโยบายหมอครอบครัว ชี้หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนโมเดลต้นแบบ ทั้งการยึดติดกับแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวมากเกิน ทั้งที่ไทยมีแพทย์สาขานี้น้อย หลาย รพ.ไม่มี ต้องให้ รพ.สต.ทำกันเอง ระบุเนื้องานหมอครอบครัว รพ.สต.ทำกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีระบบวัดผล เมื่อนโยบายต้องการ ฝ่ายปฏิบัติก็ต้องทำงานมากขึ้น แถมทรัพยากรมีไม่พอ กำลังคนไม่พอ ทั้งปัญหาเงินอยู่ที่ รพช. ถ้า ผอ.รพช.ไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุน ก็ต้องวิ่งหาเงินเอง กลายเป็นระบบที่ยึดติดกับ ผอ.รพช.เกินไป แนะ สธ.เพิ่มคน-งบ ดัน รพ.ในพื้นที่สนุบสนุนทีมหมอครอบครัวมากกว่านี้
นายชัยณรงค์ สังข์จ่าง
นายชัยณรงค์ สังข์จ่าง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โพทะเล จ.พิจิตร กล่าวถึงนโยบายหมอครอบครัวในมุมมองของผู้ปฏิบัติว่า เป็นนโยบายที่ดีแต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์การปฏิบัติใกล้เคียงกับพื้นที่ต้นแบบ เนื่องจากต้นแบบอย่าง รพ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายจังหวัดยังไม่พร้อม ยังไม่มีการ set up ระบบสนับสนุนในพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาปรับตัว หากมุ่งหวังผลลัพธ์หรือตัวชี้วัดเป็นหลัก นโยบายจะไม่ยั่งยืนและเหมือนเป็นการหลอกตัวเอง
นายชัยณรงค์ ยกตัวอย่างความไม่พร้อม อาทิ วิธีการที่ยึดกับแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวมากเกินไป ซึ่งไม่รองรับกับประเทศไทยที่มีจำนวนแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวน้อย หลายโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์สาขาดังกล่าว ก็ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำกันเอง ทำให้การปฏิบัติไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน โดยเนื้องานของนโยบายหมอครอบครัว ก็เป็นงานที่ รพ.สต.ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีระบบวัดผล แต่เมื่อมีความต้องการจากฝ่ายนโยบายเพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการต้องการเวลาเพิ่ม เพราะโดยปกติมีงานที่ต้องทำ ทั้งเรื่องการดูแลภาพรวมสุขภาพชุมชน หรือการบริหารงานภายใน รพ.สต.เอง ขณะที่การดูแลในระดับบุคคลเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะทำให้งานในส่วนอื่นๆ หย่อนประสิทธิภาพลงไปบ้าง
“ตอนนี้ทั้งคนน้อยและเวลาน้อย ถามว่าเจ้าหน้าที่เต็มที่ไหม ก็เต็มที่นะ แต่ทรัพยากรมันต้องเกื้อกูลงานด้วย เช่น การลดภาระงานด้านการบริหารจัดการ หรือพัฒนาระบบงานให้แข็งแรงขึ้น และทางกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องผลักดันการสนับสนุนจากโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะในทางปฏิบัติ บางพื้นที่ก็ไม่มีหรือมีไม่เต็มที่ เช่น โรงพยาบาลอาจมีคนไม่มากพอที่จะสนับสนุน ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาต่อเนื่อง เพราะถ้าไปเยี่ยมบ้านแล้วเจอคนไข้ ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เขา เช่น เรื่องอุปกรณ์ ถ้าไม่มีการสนับสนุน รพ.สต.ก็เคว้งเพราะไม่รู้จะไปหาจากที่ไหน ดังนั้นสิ่งที่อยากให้ทำคือผลักดันให้โรงพยาบาลในพื้นที่ออกมาสนับสนุนเต็มตัวกว่านี้ และต้องสร้างสมดุลงานทั้ง 3 ส่วน คือทั้งงาน public health งานในระดับบุคคล และงานบริหารภายใน”นายชัยณรงค์ กล่าว
นายสาคร นาต๊ะ
เช่นเดียวกับนายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย ให้ความเห็นว่า ขอให้ทรัพยากรลงไปถึงพื้นที่จริงๆ และอย่าเพิ่งตั้งธงกับตัวชี้วัดหรือจำนวนรายงานเกินไป อย่าไปฝืนธรรมชาติ ค่อยๆ ทำไปตามหน้าตักทรัพยากรที่มีและเรียนรู้ร่วมกัน เพราะ รพ.สต.บางแห่ง มีเจ้าหน้าที่ 2 คนแต่ต้องเจอความคาดหวังว่าต้องสร้างทีมอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งทำได้ยาก
“ทรัพยากรก็พวกวัสดุอุปกรณ์และเงิน เพราะเวลาลงไปในชุมชนก็ต้องเชื่อมกับกลุ่มต่างๆ อย่างเช่น อสม.ที่โดนลดเงินไป 50% ถ้าทีมที่ออกไปมีงบประมาณมาเสริม ก็จะช่วยได้เยอะ อย่าง รพ.ลำสนธิ เขาตั้งธงสนับสนุนเต็มที่ งานมันก็ไปได้ แต่ถ้าที่อื่นไม่สนับสนุนแบบนี้ มันก็ต้องมาวิ่งหางบเอง”นายสาคร กล่าว
“ไม่อยากให้โครงการนี้เป็นเหมือนเสื้อโหล สั่งมาตูมเดียวแล้วคนเขาก็ทำๆ กันไป ถึงจะมีภาพผลสำเร็จออกมา 80-90% แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ดังนั้นอยากให้ค่อยๆ ทำค่อยๆ เรียนรู้กันไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า” นายสาคร กล่าว
นายปรเมษฐ์ จินา
ด้านนายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่พบเป็นเรื่องความพร้อมของบุคลากร เช่น แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวที่มีน้อย ทำให้หลายๆ แห่งก็เอาสาธารณสุขอำเภอมาเป็นหัวหน้าทีม ที่สำคัญ ทีมในระดับตำบลและระดับชุมชนที่จะให้มีหลายวิชาชีพ เช่น พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข ทันตาภิบาล นักการแพทย์แผนไทย ฯลฯ บางแห่งก็มีไม่ครบทุกวิชาชีพ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของ รพ.สต. ก็มีบุคลากรน้อย เฉลี่ยอยู่ที่แห่งละ 3 คน ซึ่งงานก็เยอะอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่มีระบบ 30 บาทเกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อมีนโยบายหมอครอบครัวอีก งานมันก็โหลด
“พอเป็นแบบนี้ งานมันก็ทำได้ตามศักยภาพ”นายปรเมษฐ์ กล่าว
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรให้มากกว่านี้ ทั้งเรื่องคนและเรื่องเงิน เพราะคนของ รพ.สต. มีน้อย เสนอว่าขั้นต่ำควรมีบุคลากรแห่งละ 3 คน และเพิ่มคนขึ้นอีกตามจำนวนประชากรในพื้นที่ ที่ไหนมีมากก็เพิ่มคนมาก หรือถ้าไม่เพิ่มคน ก็ให้เพิ่มงบประมาณเข้ามา เพื่อให้ในพื้นที่นำไปบริหาร เช่น อาจดึงคนที่เกษียณแล้วมาช่วยงาน อาทิ ออกไปเยี่ยมบ้าน ให้วัคซีนเด็ก ฯลฯ ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องมีค่าอาหารกลางวันหรือค่าตอบแทนวันละ 300 บาท
นายปรเมษฐ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลในพื้นที่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ รพ.สต.ต้องอาศัยการเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากทรัพยากรต่างๆ อยู่ที่นี่หมด ทั้งๆ ที่งานปฐมภูมิ ให้ รพ.สต.ทำ แต่เงินไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน กลายเป็นคนทำงานต้องอาศัยความใจดี หรือบุคคลิกส่วนตัวของผู้อำนวยการ ถ้าผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนไหนออกพื้นที่หรือเข้าใจปัญหาก็ดีไป แต่ถ้าคนไหนมองว่าเงินเข้ามาแล้วก็เป็นของโรงพยาบาลหมด แบบนี้ก็ลำบาก
ตอนต่อไปติดตาม ตอนที่ 5 โมเดล ‘ลำสนธิ’ 10 ปี พลิกงานเยี่ยมบ้าน สู่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
- 14 views