บอร์ด สพฉ.ตั้งอนุกรรมการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน โดยพัฒนาระบบร่วมกับ 3 กองทุน ช่วยให้เกิดค่ารักษาที่สมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชน โดยจะแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน กึ่งฉุกเฉินออกจากผู้ป่วยทั่วไป มีกติกาเรื่องเงินที่ชัดเจน ใน 72 ชั่วโมงแรก เร่งให้เสร็จภายใน 1 เดือน และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
วันนี้ (22 พฤษภาคม 2558) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน(บอร์ด สพฉ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินค่ารักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคณะกรรมการได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1 ชุด เป็นคณะทำงานในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาระบบร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 3 กองทุน รวมทั้งภาคเอกชนและโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้เกิดการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี ใน รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน มีกติกาที่ชัดเจน ไม่สร้างภาระทางการเงินแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และจะช่วยให้เกิดค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินตามนโยบายป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ ได้กำหนดกรอบดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1.การแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน กึ่งฉุกเฉินออกจากผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะเริ่มทำพร้อมกันทั่วประเทศและจัดระบบให้มีความพร้อมตามความเหมาะสม หากพื้นที่ใดมีความพร้อมพัฒนาเข้าสู่ระบบได้เร็วจะให้เป็นแบบอย่างและช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 2.การจัดการเรื่องเงิน จะต้องมีกติกาที่ชัดเจนและมีความพร้อมทุกสถานการณ์ 3.การกำหนดขอบเขตการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงและการสร้างระบบดูแลต่อเนื่องหลัง 72 ชั่วโมงแรก จะพยายามปรับให้เข้าสู่ระบบให้ได้ แม้จะมีความยุ่งยากก็ตาม โดยคาดว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจนภายใน 1 เดือนนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะเริ่มลงมือปฏิบัติการและพัฒนาระบบไปเรื่อยๆ รวมทั้งจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของมติครม.ให้ราคาบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ในรายการที่ต้องควบคุมราคาและมีมาตรการตามรูปแบบระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่จะพัฒนาขึ้นโดยคณะอนุกรรมการด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่แพง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายปัจจัย ไม่เฉพาะค่ายาอย่างเดียว อาจมีทั้งค่าบริการ ค่าดูแล รวมทั้งปริมาณตัวยา วัสดุและการตรวจที่เกิดขึ้น แต่ในระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญ โรงพยาบาลเอกชนเดินหน้าทำระบบให้ประชาชนสามารถทราบและเปรียบเทียบราคาค่ายาและค่าบริการที่มีอยู่ โดยมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพหารือกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อจัดทำระบบข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
- 46 views