ปธ.กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค หนุนรณรงค์ชวน ปชช.ลงชื่อ คุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน พร้อมจี้ สบส.สธ. ทำหน้าที่คุ้มครอง ปชช. ออกหลักเกณฑ์คุมราคาภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ชี้นโยบายรักษาฉุกเฉิน ทำร้องเรียนพุ่ง เหตุประชาชนแห่เข้ารักษา แต่ถูกพิจารณาไม่เข้าเกณฑ์ เบิกจ่ายไม่ได้ ทำแบกภาระค่ารักษา ไม่มีเงินจ่าย แนะ รพ.เอกชนไม่ควรหากำไรเกินจริง ทำ CSR คิดราคาตามเกณฑ์เบิกจ่าย สปสช. ด้าน “ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” เผย ล่าสุดมี ปชช.ลงชื่อแล้วกว่า 2.9 หมื่นราย สะท้อนสังคมต่างเห็นปัญหาตรงกัน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้มีกลไกควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ว่า ในฐานะที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ในครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนต่อเนื่องมายาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากถูกเก็บค่ารักษาที่แพงมาก ไม่มีเงินจ่าย และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ดูแลโรงพยาบาลเอกชนโดยตรงน่าจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัญหาจากค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนอยู่บ้างว่า เป็นการจัดเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกันเอง ทั้งยังต้องหาถึง 10,000 รายชื่อ เพื่อนำมาเป็นเสียงสนับสนุนออกหลักเกณฑ์ควบคุมที่ไม่ต่างจากการออกกฎหมาย 1 ฉบับ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรที่จะต้องทำหน้านี้ดูแลประชาชน
“ในปี 2556 มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณสุขเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประมาณ 111 เรื่อง กว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 61 เป็นเรื่องมาตรฐานและบริการสาธารณสุข ขณะที่ปัญหาการใช้สิทธิฉุกเฉินที่ถูกเรียกเก็บเงินและไม่มีเงินจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 10 เมื่อรวมกับปัญหาการส่งต่อ โดยเฉพาะการจัดหาเตียงผู้ป่วยเพื่อย้ายรักษาตามสิทธิ ร้อยละ 7 ซึ่งทั้งสองกรณีหลังนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่มีไม่น้อย”
น.ส.สารี กล่าวว่า ปัญหาการถูกจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน ต้องยอมรับว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นภายหลังจากการประกาศดำเนินนโยบายรักษาฉุกเฉิน เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากเข้าไปใช้สิทธิ แต่กลับถูกพิจารณาว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ฉุกเฉินและถูกเรียกเก็บ และกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหาเตียงในโรงพยาบาลรัฐเพื่อเข้ารักษาต่อตามสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลได้ ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องได้รับความเดือดร้อน โดยบางรายถูกเรียกเก็บถึงหลักล้านบาทและถูกฟ้องร้อง ดังนั้นจึงควรมีการปรับนโยบายหรือดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้
“การรักษาพยาบาลเป็นสินค้าผูกขาด โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยและญาติต่างไม่มีสิทธิเลือก เพราะต้องนำส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว จึงไม่มีสิทธิเปรียบเทียบราคา หรือเลือกที่จะไปโรงพยาบาลอื่นแทน ดังนั้นจึงต้องมีกลไกดูแลและควรมีราคากลางควบคุม เพราะเรื่องฉุกเฉินเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจึงต้องไม่หากำไรจนเกินไป อย่างไรก็ตามอยากให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเชื่อว่าเป็นราคาที่เป็นบรรทัดฐานและโรงพยาบาลเอกชนยอมรับได้ เพียงแต่อาจกำไรไม่มาก โดยโรงพยาบาลเอกชนควรหันมามีส่วนร่วมดูแลประชาชนในประเทศในการทำ CSR ด้วยการยอมรับอัตราการจ่ายฉุกเฉินนี้” ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวและว่า ขณะนี้ราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงมากจนไม่สามารถแบ่งเบาภาระระบบสุขภาพ ในการลดความแออัดการเข้ารับบริการโรงพยาบาลภาครัฐ
น.ส.สารี กล่าวว่า ปัญหาราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นหนึ่งในประเด็นที่ สปช.ให้ความสนใจ และเป็นปัญหาที่อยู่ในกรอบการดำเนินงาน 4 ด้านที่ สปช.กำลังผลักดันขณะนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง คือ 1.การเพิ่มบทบาทการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการผลักดันกฎหมายควบคุมและคุ้มครอง 2.การป้องกันปัญหาผู้บริโภค โดยเน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งในด้านความคุ้มค่าและเป็นธรรม ในที่นี้รวมถึงคุณภาพสินค้าและราคาที่เหมาะสม 3.การร้องเรียนและเยียวยาความเสียหาย รวมถึงการชดเชย อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และ 4.การปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกลไกลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันและแก้ไขปัญหาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้
ด้านความคืบหน้าการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้เริ่มต้นรณรงค์เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา (ร่วมลงชื่อ ที่นี่) โดยในช่วง 4 วันแรกยอมรับว่ามีผู้ร่วมลงชื่อน้อยมากเพียงกว่าสองพันคนเท่านั้น ทำให้รู้สึกกังวล แต่หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวออกไป รวมถึงมีเพจดังๆ เข้ามาร่วมแชร์ทำให้มีผู้ลงชื่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินความคาด ซึ่งล่าสุดวันนี้ (30 เม.ย.) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 29,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าหลายคนต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับปัญหาราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้มีผู้ร่วมลงชื่อถึงแสนคน ซึ่งจะเป็นพลังเสียงในการขับเคลื่อนเพื่อให้มีกลไกในกาควบคุมยิ่งขึ้น
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนหลังรวบรวมรายชื่อนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความพร้อมของเพื่อนร่วมเครือข่าย โดยหลังจากนี้จะมีการพิมพ์รายชื่อเพื่อนำไปยื่นให้กับ รมว.สาธารณสุข และ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.ต่อไป ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่ได้มาจากความเกลียดชัง อคิตส่วนตัวตามที่ถูกกล่าวหา แต่ต้องการให้มีระบบควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนต่อไป
- 3 views