รมว.สธ.ร่วมเวทีเสวนา“ปฏิรูประบบสาธารณสุขกับแนวคิดหลักประกันสุขภาพ” เผย 12 ปีที่ผ่านมาบัตรทองช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ยันไม่ใช่การสงเคราะห์หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ พร้อมเดินหน้าเชิงรุกส่งทีมแพทย์ให้การดูแลประชาชนถึงบ้าน มั่นใจภายในปี 2559 มีทีมหมอครอบครัวครบ 30,000 ทีม และปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน มีแนวโน้มดีขึ้น
เมื่อวันที่ 25เมษายน 2558 ที่ จ.นครปฐม ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเสวนาเรื่อง “ปฏิรูประบบสาธารณสุขกับแนวคิดหลักประกันสุขภาพ” ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สื่อกับระบบหลักประกันสุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลด้านหลักประกันสุขภาพเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลระบบสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมไปถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศโดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2558
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือได้ว่าเป็นนโยบายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบและได้รับความนิยมอย่างมากซึ่งดำเนินการมาแล้ว 12 ปี จากผลสำรวจดุสิตโพลล่าสุด ระบุว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นผลงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ประชาชนพอใจและมีคะแนนมากที่สุดเมื่อเทียบกับผลงานกระทรวงอื่น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ตามความจำเป็น และมีผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่ใช่การสงเคราะห์หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของระบบบริการสุขภาพเกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศที่ดำเนินบนหลักการแยกผู้จัดหาบริการและผู้ให้บริการ รวมทั้งการจัดงบประมาณรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวที่กระจายไปตามประชากร ตลอดจนความร่วมมือของบุคลกรในระบบสาธารณสุข จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง และได้รับการชื่นชมจากนานาต่างประเทศที่เข้าเยี่ยมชมระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และเป็นต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศ
ซึ่งการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่ มีโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกว่า 800 แห่ง จึงต้องมีการปรับการบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารงบประมาณที่ปรับเป็นการกระจายตามหัวประชากร ทำให้มีโรงพยาบาลภายใต้สังกัดจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจนประสบปัญหาสภาพคล่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.จะร่วมกันสร้างระบบติดตามสถานะการเงินโรงพยาบาลที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง โดยในปี 2559 คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้อนุมัติเพิ่มเงินในระบบ 10,000 ล้านบาท และยังได้เงินเพิ่มเติมที่นอกจากงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร รวมถึงการได้รับสำหรับการดูแลผู้สูงอายุอีก 600 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องมีทิศทางที่ดีขึ้น
พร้อมกันนี้ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขจะทำงานเชิงรุกสร้างนำซ่อมสุขภาพ โดยจะให้มีทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม เพื่อเข้าไปดูแลประชาชนถึงบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งทีมหมอครอบครัวนี้จะทำงานร่วมกับ อสม. โดยมีแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีเบอร์โทรศัพท์ของทีมหมอครอบครัวและสามารถโทรเพื่อรับคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ สปสช.คือการทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงได้มีการบริหารงบในรูปแบบต่างๆ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์การดูแลประชาชน แต่ยังมุ่งลดภาระงบประมาณให้กับโรงพยาบาลโดยจัดตั้งกองทุนย่อย กองทุนเฉพาะ กันเงินไว้ที่ส่วนกลางเบิกจ่ายตามบริการ ทั้งกองทุนเอดส์ ไตวายเรื้อรัง ฮีโมฟีเลีย และมะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หน่วยบริการที่มีผู้ป่วยเหล่านี้มากๆ ต้องแบกรับภาระการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันยังมีการทำโครงการเฉพาะเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ลดการรอคิว ไม่ว่าจะเป็นโครงการตาต้อกระจก โครงการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งหลังจากที่ลดคิวผู้ป่วยลงแล้ว จะมีการยกเลิกโครงการเพื่อเข้าสู่ระบบปกติ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ในการดำเนินนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
“การบริหารกองทุนฯ จะเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทำให้มีมุมมองหลายหลายในการบริหาร ดูแลประชาชนได้อย่างตรงเป้าหมาย ที่รวมถึงการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น พร้อมกันนี้ทำให้การบริหารยังเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการคลังในการรับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551-2557 แต่ยังได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนเกียรติยศเพิ่มเติมในปี 2556 และ 2557 ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ต้องชื่นชมฝ่ายผู้ให้บริการทุกสังกัด โดยเฉพาะบุคลากรที่ทำงานในระบบสาธารณสุขภายในหน่วยบริการทุกระดับ ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนเป็นผลสำเร็จมาจนถึงวันนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 4 views